วัดคู่บ้านคู่เมืองกรุงธนบุรี พระปรางค์งดงามริมแม่น้ำเจ้าพระยา รวมงานศิลป์ชั้นเอกต้นรัตนโกสินทร์

 

แหล่งท่องเที่ยวกรุงเทพฯ : วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง)

วัดอรุณราชวราราม หรือ วัดแจ้ง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตรงข้ามกับวัดโพธิ์  เป็นที่รู้จักกันดีทั้งในชาวไทยและต่างประเทศในความงดงามของพระปรางค์ที่มีความสูงที่สุดในประเทศไทย วัดอรุณเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของกรุงธนบุรี ก่อนที่จะมีการตั้งราชธานีใหม่ที่ผั่งพระนคร วัดอรุณมีความสำคัญคือเคยเป็นสถานที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกต ในครั้งที่สมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึก (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) เสด็จตีเมืองเวียงจันทร์ ได้อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญ 2 องค์คือ พระแก้วมรกตและพระบางมาประดิษฐาน ณ วัดอรุณ ก่อนที่จะอัญเชิญมาประดิษฐาน ที่วัดพระแก้วในเวลาต่อมา

ในอดีตวัดอรุณเป็นวัดโบราณสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เดิมเรียกว่า “วัดมะกอก” ต่อมาเปลี่ยนเป็นชื่อ “วัดแจ้ง” เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งนิมิตที่พระเจ้าตากสินมหาราชได้เสด็จมาถึงวัดนี้เมื่อเวลาอรุณรุ่งในยามที่มีพระราชประสงค์จะย้ายราชธานีมาตั้ง ณ กรุงธนบุรี ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติ ก็ได้ดำเนินการปฏิสังขรณ์วัดแจ้ง แล้วเสร็จในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 พระราชทานพระนามวัดใหม่ว่า “วัดอรุณราชธาราม” วัดอรุณได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมอีกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แล้วทรงเปลี่ยนชื่อวัดเป็น “วัดอรุณราชวราราม” มาจนถึงปัจจุบัน

ภายในวัดอรุณ ประกอบด้วย ศาสนสถานต่างๆ ได้แก่ พระพุทธปรางค์ พระอุโบสถ พระวิหารหลวง ประตูซุ้มยอดมงกุฏ (ยักษ์) โบสถ์น้อย วิหารน้อย หอระฆัง มณฑปพระพุทธบาทจำลอง พระเจดีย์ 4 องค์ ภูเขาจำลอง อนุสาวรีย์รัชกาลที่ 2 ฯ แต่ที่นักท่องเที่ยวทั้งชายไทยและชาวต่างชาติรู้จักกันดีคือ พระพุทธปรางค์ซึ่งเป็นพระปรางค์ที่สูงที่สุดในประเทศไทย และยักษ์วัดแจ้ง จากตำนานของท่าเตียนที่กล่าวกันว่า ยักษ์วัดแจ้งและยักษ์วัดโพธิ์ ที่เกิดผิดใจกันเกิดการต่อสู้กันขึ้นจนทำให้พื้นที่โดยรอบราพณาสูร กลายเป็นชื่อท่าเตียนตามที่เรียกขานกันในปัจจุบัน

 

วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) กรุงเทพฯ

 

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อเรียกอื่นๆ : วัดแจ้ง , วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร (ชื่อเต็ม)
ชื่อภาษาอังกฤษ : Wat Arun Ratchawararam
วันเปิดให้บริการ :
เวลาเปิด-ปิด : 08:30 – 18:00
ช่วงเวลาสำหรับถ่ายภาพ :
เขต : บางกอกใหญ่ (Bangkok Yai)
จังหวัด : กรุงเทพฯ (Bangkok)
แผนที่ : พิกัด 13.7436834,100.4890174

 

 

พระพุทธปรางค์

พระปรางค์ในวัดอรุณนี้ กล่าวกันว่าเป็นพระปรางค์ที่สูงที่สุดในประเทศไทย มีความสูง 82 เมตร กว้าง 234 เมตร รายล้อมด้วยพระปรางค์องค์เล็กทั้ง 4 ทิศ ตามคติเรื่องไตรภูมิที่มีองค์ปรางค์คือเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง พระปรางค์องค์ใหญ่มียอด “มงกุฎ” ประดับบนนภศูล ลักษณะเป็นฝักเก้าแฉก  ส่วนรอบองค์ปรางค์ ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ ถ้วยชามแบบสมัยโบราณ เปลือกหอย มีลวดลายต่างกันไป อาทิ ดอกไม้ ใบไม้ ฯ และรอบๆพระปรางค์มีตุ๊กตาจีนอยู่เป็นจำนวนมาก

นักท่องเที่ยวสามารถเดินขึ้นไปชมพระปรางค์สามารถเห็นทิวทัศน์ได้โดยรอบ โดยเฉพาะทิวทัศน์ของแม่น้ำเจ้าพระยามองไปเห็นฝั่งพระนคร ในยามค่ำคืนจะมีการเปิดไฟที่พระพุทธปรางค์ หากยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามองเข้ามาจะมีความงดงามเป็นอย่างมาก

 

เวลาเปิด-ปิด : 08:00 – 18:00
ค่าเข้าชม : คนไทย : ไม่เสียค่าเข้าForeigner : BHT 50

 

วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) กรุงเทพฯ

วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) กรุงเทพฯ

วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) กรุงเทพฯ

วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) กรุงเทพฯ

วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) กรุงเทพฯ

 

พระวิหารหลวง

ภายในพระวิหารหลวงประดิษฐานพระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักษณาอสีตยานุบพิตร พระประธานประจำพระวิหารหลวง รัชกาลที่ 3 ทรงให้หล่อขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2496 และพระอรุณ หรือพระแจ้ง พระพุทธศิลป์แห่งลานช้างที่ได้อัญเชิญมาประดิษฐาน เมื่อปี พ.ศ. 2401

 

เวลาเปิด-ปิด : 07:30 – 19:00

 

วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) กรุงเทพฯ

 

พระอุโบสถ

ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก พระประธานประจำพระอุโบสถ ที่มีพระพักตร์งามสง่าโดดเด่นที่สุดในประเทศ ซึ่งมาจากฝีพระหัตถ์ในรัชกาลที่ 2 ภายในพระพุทธอาสน์บรรจุพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ภายในมีบริการเครื่องสักการะมีธูป เทียน ดอกบัวและรับน้ำพระพุทธมนต์เสริมสิริมงคล ภายในมีสถาปัตยกรรมอันเป็นอัตตลักษณะเด่น ด้านในประตูทุกบานเป็นภาพสีรูปคนถือหางนกยูงยืนอยู่เหนือสัตว์หิมพานต์  ด้านนอกประตูเป็นลายรดน้ำ  ด้านในพระระเบียงโดยรอบมีตุ๊กตารูปทหารเรือทำจากหินแกรนิตสีเขียวตั้งเรียงเป็นแถวจำนวน 144 ตัว บริเวณมุมพระอุโบสถทั้งสี่มุม มีพระเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมทำด้วยหินอ่อน มีซุ้ม  8 ซุ้ม มียอดเป็นปล้อง ๆ เรียวขึ้นโดยลำดับคล้ายปล้องไฉน ภายในบรรจุตุ๊กตาหินแกรนิตแบบจีนอยู่ภายใน จำนวน 8 ตัว เรียกว่าโป๊ยเซียน ส่วนที่ซุ้มด้านหน้าของพระอุโบสถมีรูปปั้นยักษ์ยืนถือกระบอง 2 ตน ยักษ์สีเขียวคือ ทศกัณฑ์ ส่วนยักษ์สีขาวคือ สหัสเดชะ จากเรื่องรามเกียรติ์

 

เวลาเปิด-ปิด : 08:30 – 17:00

 

วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) กรุงเทพฯ

 

 

 

การเดินทางโดยทางรถยนต์ส่วนตัว /  จากถนนปิ่นเกล้า เลี้ยวเข้าถนนอรุณอมรินทร์ ผ่านโรงพยาบาลศิริราช เมื่อข้ามสะพานอรุณอมรินทร์  จะเห็นทางเข้าวัดอรุณอยู่ทางด้านซ้ายมือ ที่จอดรถค่อนข้างหายาก

การเดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะ  /

  • รถโดยสารประจำทางจากฝั่งธนบุรี สาย 19  57 83
  • รถโดยสารประจำทางจากฝั่งพระนคร สาย 32 47 53 82 ลงที่ตลาดท่าเตียนแล้วข้ามใช้บริการเรือข้ามฟากจากท่าเตียนไปยังวัดอรุณ
  • รถไฟฟ้า : ลงสถานีสะพานตากสิน  ใช้ทางออกที่ 2 จากนั้นใช้บริการเรือด่วนเจ้าพระยาที่ท่าสาทร ไปขึ้นที่ท่าเตียน จากนั้นใช้บริการเรือข้ามฟากจากท่าเตียนไปยังวัดอรุณ 

การเดินทางโดยรถโดยเรือ / นั่งเรือด่วนมาลงที่ท่าเตียน จากนั้นต่อเรือข้ามฟากลงท่าเรือวัดอรุณ

 

 

การติดต่อ

ที่อยู่ : 158 ถนนวังเดิม แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ 10600
การติดต่อ :
  • เบอร์โทรศัพท์ สนง.กลาง 02 891 2185
  • พระอุโบสถ : 02 466 9179
Official Website :  www.watarun.org

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : เวบไซท์วัดอรุณ , หอสมุดสาขา วังท่าพระ , ธรรมะไทย
ภาพถ่ายโดย : Mahapunt Photography
เรียบเรียงโดย : www.zthailand.com

 

เนื้อหาและข้อความในบทความนี้ถูกเรียบเรียงขึ้นมาใหม่ ซึ่งได้มาจากข้อมูลที่ได้สำรวจจากสถานที่จริง และ/หรือ จากแหล่งข้อมูลอ้างอิงต่างๆ ด้วยเนื้อหาและข้อความถูกเรียบเรียงขึ้นมาใหม่ ข้อมูลบางส่วนจึงอาจมีการคลาดเคลื่อนหรือไม่ได้อัพเดตให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน หากท่านต้องการแจ้งข้อมูลที่ถูกต้องกว่าสามารถส่งข้อมูลพร้อมระบุสถานที่และลิงค์มาได้ที่ contact@zthailand.com เพื่อให้ทีมงานได้ตรวจสอบและแก้ไขให้ถูกต้องยิ่งขึ้น หากท่านใดต้องการนำข้อมูลไปอ้างถึงบนเวบไซท์หรือสื่ออื่น กรุณาระบุที่มาและลิงค์กลับมาที่เวบไซท์  www.zthailand.com  ในขณะที่ภาพถ่ายทั้งหมดยังถือเป็น ลิขสิทธิ์ของผู้ถ่ายภาพ โดยผู้ถ่ายภาพอนุญาตให้ใช้เฉพาะภายในเวบไซท์ www.zthailand.com เท่านั้น ห้ามมิให้ละเมิด ทำซ้ำ หรือดัดแปลงใดๆทั้งสิ้น