เส้นทางเดินที่สวยที่สุดของดอยอินทนนท์ ชมป่าที่หลากหลายและชมวิวทะเลหมอก

 

แหล่งท่องเที่ยวเชียงใหม่ : กิ่วแม่ปาน (เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ) ดอยอินทนนท์

กิ่วแม่ปานเป็นเส้นทางธรรมชาติยอดนิยมของผู้ที่มาเยือนอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ตั้งอยู่บริเวณเกือบถึงยอดดอยประมาณ ก.ม.ที่ 42 มีความสูงประมาณ 2,000 เมตร เป็นเส้นทางเดินเป็นรอบวงกลมระยะรวมประมาณ 3 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินเท้าโดยประมาณ 2-3 ช.ม. กิ่วแม่ปานมีความสวยงามหลากหลาย ตั้งแต่ป่าเมฆดึกดำบรรพ์ ไปจนถึงพื้นที่ที่เรียกว่า ”กิ่ว” ซึ่งเป็นภูมิประเทศแบบสันเขาที่มีลักษณะเฉพาะตัว บนสันจะแคบและมีไหล่เขาสองข้างทางชันมาก ซึ่งจะมีโอกาสเห็นทะเลหมอกสุดลูกลูกตา มีความสวยงามมาก นอกจากนี้ที่กิ่วแม่ปานนี้เองก็เป็นอีกจุดที่สามารถพบเห็นกุหลาบพันปีได้เช่นกัน

การเข้าไปชมกิ่วแม่ปานนั้นต้องติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อพาเดินเข้าไปเท่านั้นเส้นทางเดินในช่วงแรกเป็นเส้นทางเดินขึ้น ซึ่งจะเดินผ่านป่าซึ่งเป็นลักษณะป่าเมฆ หรือป่าที่มีเมฆปกคลุมอยู่เกือบตลอดปี คล้ายกับอยู่ในโลกของป่าดึกดำบรรพ์ จากนั้นจะเดินออกมาสู่สันเขาซึ่งเป็นทุ่งหญ้ากึ่งอัลไพน์ เป็นพื้นที่ป่าโล่ง ถ้าโชคดีจะได้เห็นทะเลหมอกในจุดนี้ไล่มาจนมาถึงจุดชมวิวที่เป็นภูมิประเทศแบบสันเขาซึ่งเป็นที่มาของชื่อ กิ่วแม่ปาน ทางเดินช่วงนี้จะแคบเป็นไหล่เขาลาดลงไปสู่พื้นล่าง มีจุดเด่นอยู่ที่ “ผาแง่มน้อย” ซึ่งเป็นก้อนหินที่โผล่ขึ้นมาโดดเด่นให้เห็นอยู่ริมทาง เมื่อถึงจุดนี้จะกลับเข้ามาสู่ป่าเมฆอีกครั้งเป็นเส้นทางเดินลง และจะวกเป็นวงกลมออกมาสู่จุดเริ่มเดินครั้งแรกอีกครั้ง

ข้อแนะนำในการเดินชมกิ่วแม่ปานควรเตรียมร่างกายให้พร้อมก่อนเดินชม โดยหาซื้อได้จากร้านค้าบริเวณทางขึ้น นอกจากนั้นควรเตรียมน้ำและขนมไว้ให้พร้อม เพราะเส้นทางเดินค่อนข้างใช้เวลา นอกจากนั้นแนะนำให้เป็นกางเกงขายาวเพราะมีบางช่วงจะต้องเดินผ่านทุ่งหญ้าและต้นไม้ที่มีความสูงและรก

 

กิ่วแม่ปาน (เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ) เชียงใหม่

 

 

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อภาษาอังกฤษ : Kio Mae Pan Nature Trail
วันเปิดให้บริการ :
เวลาเปิด-ปิด : 06:00 – 16:00
ค่าเข้าชม : เสียค่าเข้าชมตั้งแต่ตอนขึ้นอุทยานแห่งชาติ ตามอัตราค่าเข้า + ค่าคนนำทาง 200 บาท ต่อคณะ
ฤดูกาลท่องเที่ยว :
ช่วงฤดูหนาว เป็นช่วงที่เหมาะสมแก่การท่องเที่ยวเนื่องจากมีโอกาสเห็นทะเลหมอกและกุหลาบพันปีหมายเหตุ : อาจมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่สภาพภูมิอากาศและฤดูกาลประจำปี
ช่วงเวลาสำหรับถ่ายภาพ :
เวลาที่เหมาะสมคือช่วงเช้าเพื่อมีโอกาสเห็นทะเลหมอก
* ส่วนถ้าต้องการถ่ายภาพ พระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ และ พระมหาธาตุนภเมทนีดล  จากมุมกิ่วแม่ปาน ให้มาช่วงบ่าย
อำเภอ : จอมทอง (Chom Thong)
จังหวัด : เชียงใหม่ (Chiang Mai)
แผนที่ : พิกัด 18.556265,98.482684

 

 

เดินชม “ป่าเมฆ” ป่าโบราณแห่งดอยอินทนนท์

ป่าเมฆนั้นเป็นลักษณะป่าอันโดดเด่นของดอยอินทนนท์ คือเป็นป่าดิบเขาที่มีความชื้น ลักษณะเป็นป่าดิบค่อนข้างทึบ แสงสองผ่านมายังพื้นดินได้เพียงเล็กน้อย จึงมีความอุดมสมบูรณ์ และดูคล้ายป่าโบราณหรือป่าดึกดำบรรพ์ในยุคไดโนเสาร์ สองข้างทางจะมีโอกาสได้เห็นพืชที่ชอบความชื้นเช่น มอส เฟิน ฝอยลม และกล้วยไม้ป่าขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น ระหว่างทางจะได้เห็นสายน้ำตกซึ่งมีความสวยงามมาก ระหว่างทางเจ้าหน้าที่จะแนะนำป่าไม้ พืชสมุนไพรต่างๆ ได้เห็นการฟื้นฟูป่าตามธรรมชาติตั้งแต่ระยะเริ่มจนถึงระยะสุดท้าย

ป่าเมฆจะได้พบตั้งแต่เริ่มเดินเข้าไปที่เส้นทางธรรมชาติกิ่งแม่ปาน และจะได้เห็นอีกครั้งเมื่อออกจากบริเวณสันเขา จนถึงบริเวณสุดท้ายก่อนออกจากกิ่วแม่ปาน

 

 

กิ่วแม่ปาน (เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ) เชียงใหม่

กิ่วแม่ปาน (เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ) เชียงใหม่

 

 

ลุ้มชมทะเลหมอกที่กิ่วแม่ปาน

เนื่องจากสันฐานของกิ่วแม่ปานเป็นลักษณะผาลาดชันและมีความสูง ในช่วงฤดูหนาวจึงโอกาสเห็นทะเลหมอกที่มีความสวยมาก ที่บริเวณทุ่งหญ้าจะมีจุดชมวิว ซึ่งนักท่องเที่ยวจะมีโอกาสได้เห็นทะเลหมอก 180 องศา นอกจากนั้นขณะที่เดินตามกิ่ว จะมีทะเลหมอกให้เห็นทางขวามือตลอดทาง

 

กิ่วแม่ปาน (เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ) เชียงใหม่

 

 

ชมกุหลาบพันปี ดอกไม้งามบานเฉพาะที่สูง

ที่บริเวณกิ่วจะมีโอกาสเห็นดอกกุหลาบพันปีหรือ Rhododendron อวดโฉมสีแดงอยู่ตามกิ่งเต็มไปหมด ดอกกุหลาบพันปีนั้นพบได้ในที่ๆมีอากาศหนาวเย็น สูง 1,800 เมตรจากระดับน้ำทะเลขึ้นไป มีลักษณะลำต้นคดงอแคระแกรน ที่บริเวณกิ่วแม่ปานจะพบกุหลาบพันปีเฉพาะสีแดงเท่านั้น ไม่พบกุหลาบพันปีสีขาว

 

หมายเหตุ : อาจมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่สภาพภูมิอากาศและฤดูกาลประจำปี

 

กิ่วแม่ปาน (เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ) เชียงใหม่

 

ถ่ายภาพมุมบน พระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ และ พระมหาธาตุนภเมทนีดล

ที่กิ่วแม่ปานเป็นจุดยอดนิยมของนักถ่ายภาพที่ต้องการมาถ่ายภาพพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ และ พระมหาธาตุนภเมทนีดล ในมุมโปสการ์ด จุดที่ถ่ายภาพอยู่ในช่วงใกล้ออกทางออกกิ่วแม่ปาน หลังจากเดินบนกิ่วเสร็จ ซึ่ีงการมาถ่ายภาพควรมาช่วงบ่าย เนื่องจากช่วงเช้าจะย้อนแสง หากต้องการถ่ายพระอาทิตย์ตกให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ไว้ล่วงหน้าด้วย

 

 

 

 

การเดินทางโดยทางรถยนต์ส่วนตัว /  จากตัวเมืองเชียงใหม่ เดินทางโดยรถยนต์ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 (เชียงใหม่-ฮอด) ผ่านอำเภอหางดงและอำเภอสันป่าตอง ไปยังอำเภอจอมทอง ก่อนถึงอำเภอจอมทองประมาณ 2 กิโลเมตร เลี้ยวขวาตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1009 (จอมทอง-ดอยอินทนนท์) ตรงไปอีกประมาณ 43 กิโลเมตร ให้สังเกตว่าเส้นทางจะผ่านด่านอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์สองครั้ง และอยู่เลยพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ และ พระมหาธาตุนภเมทนีดลเพียงนิดเดียว ในช่วงหลังๆเส้นทางจะค่อนข้างสูงชัน รถยนต์ธรรมดาสามารถขึ้นได้ (ควรจะเป็นรถยนต์เครื่อง 1,500 cc ขึ้นไป) แต่ต้องมีความชำนาญในการขับรถบริเวณที่จอดรถมีร้านค้าและร้านอาหารให้บริการ

การเดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะ  / จากตัวเมืองเชียงใหม่ ที่ประตูเชียงใหม่ใช้บริการสองแถวสีเหลือง เชียงใหม่ – จอมทอง ใช้เวลาวิ่งราว 1 ชั่วโมง จะมาถึงที่วัดพระธาตุศรีจอมทองจากนั้นต้องเหมารถบริเวณวัดต่อเพื่อเที่ยวรอบๆอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์

 

 

การติดต่อ

ที่อยู่ : อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ 119 หมู่ที่ 7 ต.บ้านหลวง  อ. จอมทอง  จ. เชียงใหม่   50160 (ศุนย์บริการนักท่องเที่ยว)
การติดต่อ : 053 286728 – 9
Official Website : www.dnp.go.th
Social  Media : แทรก แทรก

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : โบรชัวร์ , ป้ายข้อมูลภายในสถานที่
ภาพถ่ายโดย : Mahapunt Photography
เรียบเรียงโดย : www.zthailand.com

 

 


เนื้อหาและข้อความในบทความนี้ถูกเรียบเรียงขึ้นมาใหม่ ซึ่งได้มาจากข้อมูลที่ได้สำรวจจากสถานที่จริง และ/หรือ จากแหล่งข้อมูลอ้างอิงต่างๆ ด้วยเนื้อหาและข้อความถูกเรียบเรียงขึ้นมาใหม่ ข้อมูลบางส่วนจึงอาจมีการคลาดเคลื่อนหรือไม่ได้อัพเดตให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน หากท่านต้องการแจ้งข้อมูลที่ถูกต้องกว่าสามารถส่งข้อมูลพร้อมระบุสถานที่และลิงค์มาได้ที่ contact@zthailand.com เพื่อให้ทีมงานได้ตรวจสอบและแก้ไขให้ถูกต้องยิ่งขึ้น หากท่านใดต้องการนำข้อมูลไปอ้างถึงบนเวบไซท์หรือสื่ออื่น กรุณาระบุที่มาและลิงค์กลับมาที่เวบไซท์  www.zthailand.com  ในขณะที่ภาพถ่ายทั้งหมดยังถือเป็น ลิขสิทธิ์ของผู้ถ่ายภาพ โดยผู้ถ่ายภาพอนุญาตให้ใช้เฉพาะภายในเวบไซท์ www.zthailand.com เท่านั้น ห้ามมิให้ละเมิด ทำซ้ำ หรือดัดแปลงใดๆทั้งสิ้น