เรียนรู้ชาวเขา 6 เผ่า ที่เราอาจไม่เคยเข้าใจมาก่อน จัดโดยองค์กรที่เชียวชาญ

 

แหล่งท่องเที่ยวเชียงราย : พิพิธภัณฑ์ชาวเขา (พิพิธภัณฑ์และศูนย์ศึกษาชาวเขา)

พิพิธภัณฑ์และศูนย์ศึกษาชาวเขา หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า พิพิธภัณฑ์ชาวเขา เชียงราย ตั้งอยู่บนชั้น 3 ของอาคารพี ดี เอ. 1  ไม่ไกลกับสวนตุงและโคมเฉลิมพระเกียรติฯ อำเภอเมืองจังหวัดเชียงราย ดำเนินงานโดยสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชนจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนเพื่อการสาธารณะประโยชน์ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากร ทั้งในเขตเมืองและชนบท ในการดูแลของ คุณมีชัย วีระไวทยะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ซึ่งเป็นบุคคลมีชื่อเสียงจากบทบาทการรณรงค์การใช้ถุงยางอนามัย สำหรับการคุมกำเนิด จนมีการเรียกว่า “ถุงมีชัย” อยู่พักหนึ่ง รวมถึงเป็นเจ้าของร้านอาหารสุดแนว  Cabbages & Condoms

พิพิธภัณฑ์ชาวเขา เชียงราย เป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในชนกลุ่มน้อยในภาคเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงราย โดยจัดแสดงและฉายสไลด์วิถีชีวิตความเป็นอยู่ วัตถุสิ่งของ เครื่องใช้ ชุดแต่งกายประจำเผ่า พร้อมข้อมูลในเชิงนิทรรศการที่เกี่ยวกับชาวไทยภูเขา 6 เผ่า ได้แก่ ลีซอ อาข่า เย้า ม้ง กะเหรี่ยง และมูเซอ ภายในพิพิธภัณฑ์ชาวเขา เชียงรายแบ่งออกเป็นสองโซนด้วยกันคือส่วนจัดแสดงพร้อมห้องฉายวีดีทัศน์และอีกส่วนคือส่วนขายของที่ระลึก พิพิธภัณฑ์ชาวเขา เชียงรายมีพื้นที่รวม 650 ตารางเมตร

ถึงแม้พิพิธภัณฑ์ชาวเขา เชียงรายจะมีขนาดไม่ใหญ่มากนักแต่ก็จัดว่าเป็นแหล่งศึกษาข้อมูลชั้นเยี่ยมที่จะได้เข้าใจถึงวัฒนธรรมของชนเผ่าต่างๆที่อยู่ในภาคเหนือ เราจะมีโอกาสได้เข้าใจชีวิตความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรม ที่อาจไม่เคยเห็นหรือเข้าใจมาก่อน ส่วนมากที่เข้ามาชมพิพิธภัณฑ์ชาวเขา เชียงรายคือนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเป็นหลัก

ส่วนใครสนใจที่จะบริจาคเสื้อผ้ากรือของเล่นที่ไม่ใช่แล้วเพื่อนำไปให้ชาวเขาที่อยู่ห่างไกล สามารถนำมาบริจาคที่พิพิธภัณฑ์ชาวเขา เชียงรายนี้ได้เช่นกัน

 

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อเรียกอื่นๆ : พิพิธภัณฑ์และศูนย์ศึกษาชาวเขา , พิพิธภัณฑ์และหัตถกรรมชาวเขา
ชื่อภาษาอังกฤษ : Hilltribe Museum and Education Center , Hiสltribe Museum
วันเปิดให้บริการ :
เวลาเปิด-ปิด : วันเสาร์ อาทิตย์ และหยุดนักขตฤกษ์ 10:00 – 18:00
วันจันทร์ ถึง ศุกร์ 08:30 – 18:00
ค่าเข้าชม : 50 บาท
อำเภอ : เมืองเชียงราย  (Muang Chiang Rai)
จังหวัด : เชียงราย (Chiang Rai)
แผนที่ : พิกัด 19.909099,99.835606

 

 

ส่วนจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ชาวเขา

ก่อนชมนิทรรศการ ผู้เยี่ยมชมจะได้ชมสไลด์ประกอบคำบรรยาย โดยมีให้เลือก 6 ภาษา ได้แก่ ไทย อังกฤษ ฝรั่งเศษ เยอรมัน และญี่ปุ่น  วีดีทัศน์มีความยาวประมาณ 20 นาที จากนั้นจะเข้าสู่ส่วนนิทรรศการที่บอกเล่าเรื่องราว ขนบธรรมเนียมวิถีชีวิตของชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ได้แก่ อาข่า เย้า ม้ง กะเหรี่ยง ลีซู ลาหู่  และยังจัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำการเกษตร ประมง ล่าสัตว์ เครื่องจักสาน เครื่องดนตรี เครื่องแต่งกาย ภาพวาดแสดงวิถีชีวิตของชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ให้เราเห็นอีกด้วย

ส่วนขายของที่ระลึกของพิพิธภัณฑ์ชาวเขา

ตั้งอยู่ทางตรงกันข้ามจากห้องจัดแสดง ในส่วนนี้จัดจำหน่ายสินค้าหัตถกรรมฝีมือชาวเขา ทั้งเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ย่าม ของแต่งบ้าน และสินค้าของสมาคมฯ นอกจากนั้นยังภาพเขียนหมึกสีดำบนฝาหนังตอก อุปกรณ์เครื่องใช้ให้ได้ชมอีกเล็กน้อย

 

พิพิธภัณฑ์ชาวเขา เชียงราย

พิพิธภัณฑ์ชาวเขา เชียงราย

 

 

การเดินทางโดยทางรถยนต์ส่วนตัว /  จากถนนพหลโยธินมาตามถนนหนองสี่แจ่งและต่อมาถนนธนาลัย ก่อนถึงสวนตุงและโคมเฉลิมพระเกียรติ สังเกตทางขวามือ จะเป็นอาคารพีดีเอ 1  พิพิธภัณฑ์และศูนย์ศึกษาชาวเขา อยู่บนชั้นสามของอาคาร

 

 

การติดต่อ

ที่อยู่ : สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน สาขาเชียงราย 620/1 ชั้น 3 อาคารพีดีเอ  ถ.ธนาลัย อ.เมือง จ.เชียงราย 57000
การติดต่อ : 053 740088, 053 719167 ต่อ 301
Official Website : www.pdacr.org

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : แผ่นพับ, เวบไซท์พิพิธภัณฑ์และศูนย์ศึกษาชาวเขา , เวบไซท์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ภาพถ่ายโดย : Mahapunt Photography
เรียบเรียงโดย : www.zthailand.com

 

 


เนื้อหาและข้อความในบทความนี้ถูกเรียบเรียงขึ้นมาใหม่ ซึ่งได้มาจากข้อมูลที่ได้สำรวจจากสถานที่จริง และ/หรือ จากแหล่งข้อมูลอ้างอิงต่างๆ ด้วยเนื้อหาและข้อความถูกเรียบเรียงขึ้นมาใหม่ ข้อมูลบางส่วนจึงอาจมีการคลาดเคลื่อนหรือไม่ได้อัพเดตให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน หากท่านต้องการแจ้งข้อมูลที่ถูกต้องกว่าสามารถส่งข้อมูลพร้อมระบุสถานที่และลิงค์มาได้ที่ contact@zthailand.com เพื่อให้ทีมงานได้ตรวจสอบและแก้ไขให้ถูกต้องยิ่งขึ้น หากท่านใดต้องการนำข้อมูลไปอ้างถึงบนเวบไซท์หรือสื่ออื่น กรุณาระบุที่มาและลิงค์กลับมาที่เวบไซท์  www.zthailand.com  ในขณะที่ภาพถ่ายทั้งหมดยังถือเป็น ลิขสิทธิ์ของผู้ถ่ายภาพ โดยผู้ถ่ายภาพอนุญาตให้ใช้เฉพาะภายในเวบไซท์ www.zthailand.com เท่านั้น ห้ามมิให้ละเมิด ทำซ้ำ หรือดัดแปลงใดๆทั้งสิ้น