เยือน 3 พิพิธภัณฑ์กลางเวียง ทรงคุณค่าประวัติศาสตร์เชียงใหม่และล้านนา
แหล่งท่องเที่ยวเชียงใหม่ : หอศิลปวัฒนธรรมเชียงใหม่ หอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ และพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา
หอศิลปวัฒนธรรมเชียงใหม่ หอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ และพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา เป็นพิพิธภัณฑ์ที่อยู่กลางเวียงภายในตัวเมืองเชียงใหม่ บริเวณเดียวกับอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ บางครั้งเรียกว่า “กลุ่มพิพิธภัณฑ์กลางเวียงเชียงใหม่” หรือ “เครือข่ายพิพิธภัณฑ์กลางเวียงเชียงใหม่” รวมรวมและจัดแสดงวิถีชีวิต ศิลปกรรม ความเชื่อ ประเพณี ฯ ที่สะท้อนถึงมรดกความเป็นล้านนาและเชียงใหม่ นักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมสามารถเลือกเดินชมที่พิพิธภัณฑ์ใดพิพิธภัณฑ์หนึ่งซึ่งจัดแสดงนิทรรศการที่แตกต่างกันออกไป หรือจะเยี่ยมชมทุกพิพิธภัณฑ์ในวันเดียวกันก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน
ข้อมูลทั่วไป
ค่าเข้าชม : | ค่าเข้าชมต่อหนึ่งพิพิธภัณฑ์ :
ค่าเข้าชมรวมทุกพิพิธภัณฑ์ ภายใน 7 วัน :
|
||
อำเภอ : | เมืองเชียงใหม่ (Muang Chiang Mai) | ||
จังหวัด : | เชียงใหม่ (Chiang Mai) |
หอศิลปวัฒนธรรมเชียงใหม่หอศิลปวัฒนธรรมเชียงใหม่ ตั้งอยู่ในบริเวณซึ่งที่ตั้งเคยเป็นที่ตั้งของสะดือเมืองเชียงใหม่ ก่อนที่พระเจ้าติโลกราชจะโปรดให้ย้ายเสาอินทขีลไปไว้ที่วัดเจดีย์หลวง ปัจจุบันก็คืออาคารด้านหลังอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ภายในหอศิลปวัฒนธรรมเชียงใหม่จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของเมืองเชียงใหม่ และวิถีชีวิตวัฒนธรรมท้องถิ่น นับตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์มาจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้คนในท้องถิ่นได้รับรู้ถึงคุณค่าของประวัติศาสตร์ รู้รากเหง้าของตนเองและบ้านเมืองรู้จักวิถีชีวิตตลอดจนศิลปวัฒนธรรมและประเพณีของตนเอง เพื่อสร้างจิตสำนึกในการรักษาวัฒนธรรมประเพณีอันดีงานให้คงอยู่สืบไป การเริ่มเดินชมหอศิลปวัฒนธรรมเชียงใหม่ จะมีอยู่ด้วยกัน 2 ชั้น เริ่มจากห้องฉายภาพวีดีทัศน์ “เชียงใหม่วันนี้” เพื่อเกริ่นภาพรวมของเชียงใหม่ ก่อนที่ผู้ชมจะเริมเดินชมตามห้องต่างๆในชั้นที่ 1 ได้แก่ ก่อนจะเป็นเชียงใหม่ อารยธรรมสองลุ่มน้ำ สร้างบ้านแปงเมือง ความสัมพันธ์กับภูมิภาค ร้อยปีล่วงแล้ว สิ่งดีงามของเชียงใหม่ ส่วนของชั้นที่ 2 ประกอบด้วยห้อง ประวัติอาคาร เจ้าหลวงเชียงใหม่ ชีวิตริมฝั่งแม่น้ำปิง คนในเวียง พุทธศาสนากับคนเมือง บายศรีฑูลพระขวัญ สังคมเกษตรกรรม และคนบนดอย ผู้ที่มาเดินชมสามารถสัมผัสถึงนิทรรศการได้อย่างใกล้ชิดเพราะทางหอศิลป์ได้จัดทำหุ่นปั้นเพื่อให้เข้าใจถึงวิถีแบบเชียงใหม่ดั้งเดิมได้อย่างง่ายๆ สำหรับตัวอาคารของหอศิลปวัฒนธรรมเชียงใหม่มีความโดดเด่น สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2467 ในอดีตเคยใช้เป็นศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เคยได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นในปี พ.ศ. 2542 ประเภทที่ทำการอาคารสาธารณะ จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ และรางวัล ASEANTA Excellence Awards 2007 ครั้งที่ 21 ประเภท Best ASEAN Cultural Preservation Effort จัดโดย สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวอาเซียน |
|
หอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่หอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ตั้งอยู่ติดกับหอศิลปวัฒนธรรมเชียงใหม่ทางด้านหลัง ซึ่งพื้นที่นี้สันนิษฐานว่าเดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งของหอพระแก้ว ศาสนสถานสำคัญของเมือง ภายในหอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่จัดแสดงนิทรรศการเรื่องราวพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ นับแต่สร้างเมืองเชียงใหม่จนเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนา พัฒนาการของเมืองทั้งด้านการค้าและศาสนา จนมาถึงช่วงยุคสมัยเมืองขึ้นของพม่าจนในที่สุดเข้าสู่การเป็นประเทศราชของสยามจนรวมเป็นส่วนหนึ่งของไทยในปัจจุบัน การจัดแสดงภายในหอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ประกอบด้วยพื้นที่ส่วนต่างๆ ได้แก่ นิทรรศการเรื่องราวของเชียงใหม่ อาคารหอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ แหล่งขุดค้นทางโบราณคดีที่คาดว่าคือแนวกำแพงของวัดพระแก้วในอดีต ห้องสมุดและแหล่งค้นคว้าข้อมูลสาธารณะสำหรับชาวเชียงใหม่ ภายในส่วนนิทรรศการแบ่งออกเป็นส่วนจัดแสดงต่างๆ ได้แก่ ตำนาน การเมืองและการค้า ภาษาและวรรณกรรม ธรรมชาติ การค้าทางน้ำ พม่าปกครอง ยุคเสื่อม เชียงใหม่เมืองร้าง การคมนาคมสมัยใหม่ ยุคฟื้นฟู การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ภาพเก่าเล่าเรื่อง เชียงใหม่ในปัจจุบัน |
|
พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนาพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา ตั้งอยู่ตรงกันข้ามพอดีกับอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เพิ่งจัดทำขึ้นใหม่เมื่อไม่นานมานี้ โดยบูรณะอาคารซึ่งเดิมเป็นศาลแขวง (เดิม) ย่านกลางเวียง ที่มีสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิก ภายในพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนามีอยู่ด้วยกันสองชั้นจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับวิถีชีวิตของผู้คนในล้านนาซึ่งมีศิลปวัฒนธรรมที่ปฏิบัติสืบเนื่องมายาวนาน สะท้านถึงคติความเชื่อและความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ลักษณะทางศิลปะจักปรากฏในงานต่างๆ เช่น พุทธศิลป์ พิธีกรรม สถาปัตยกรรม จิตรกรรมและประติมากรรม ภายในของพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนาชั้นที่ 1 ประกอบด้วย ข่วงแก้วล้านนาซึ่งเป็นต้นความคิดของพุทธสถาปัตยกรรมล้านนา สถาปัตยกรรมของิวหารล้านนา เครื่องใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา ประติมากรรมประเภทต่างๆในสมัยโบราณ ประเพณีแห่ครัวทาน และจิตกรรมฝาผนังของช่างสกุลเชียงใหม่ ส่วนภายใสของพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนาชั้นที่ 2 ประกอบด้วย การแสดงหัตถศิลป์พื้นบ้านของล้านนา เครื่องจักสาน เครื่องดนตรีของล้านนา การทอผ้าแบบล้านนา ประวัติศาสตร์ของอาคารพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา และมหรรมฆภัณฑ์ล้านาซึ่งเสนอเรื่องราวของงานเครื่องสูงของล้านนาที่ใช้ในการสักการะบูชาพระธาตุ พระบรมสารีริกธาตุ เรื่องราวของหัวใจพระเจ้าซึ่งอยู่ภายในพระพุทธรูป ทำด้วยเครื่องเงิน ภายในบรรจุอัญมณีต่างๆ รวมถึงลักษณะการบรรจุพระธาตุจำลองซึ่งใช้ในพิธีวางศิลาฤกษ์แบบโบราณล้านนา |
|
การเดินทางโดยทางรถยนต์ส่วนตัว / ตั้งอยู่ภายในคูเมืองเชียงใหม่ บริเวณถนนพระปกเกล้าตัดกับถนนราชวิถี หอศิลปวัฒนธรรมเชียงใหม่และหอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ อยู่ด้านหลังอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จอดรถที่เดียวกันฝั่งถนนราชวิถี ส่วนพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนาอยู่ตรงข้ามอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ มีที่จอดรถอีกแห่งเข้าทางถนนราชวิถีเช่นเดียวกัน |
การเดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะ / จากตัวเมืองเชียงใหม่สามารถเรียกรถสาธารณะ(รถแดง) มาลงที่หน้าบริเวณอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ |
การติดต่อ
ที่อยู่ : | ถนนพระปกเกล้า ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200 | ||
การติดต่อ : | 053 217793, 053 219833 | ||
Official Website : | www.cmocity.com | ||
Social Media : |
ข้อมูลอ้างอิง
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : | โบรชัวร์ , ป้ายข้อมูลภายในสถานที่ , เวบไซท์เครือข่ายพิพิธภัณฑ์กลางเวียงเชียงใหม่ | ||
ภาพถ่ายโดย : | Mahapunt Photography | ||
เรียบเรียงโดย : | www.zthailand.com |
เนื้อหาและข้อความในบทความนี้ถูกเรียบเรียงขึ้นมาใหม่ ซึ่งได้มาจากข้อมูลที่ได้สำรวจจากสถานที่จริง และ/หรือ จากแหล่งข้อมูลอ้างอิงต่างๆ ด้วยเนื้อหาและข้อความถูกเรียบเรียงขึ้นมาใหม่ ข้อมูลบางส่วนจึงอาจมีการคลาดเคลื่อนหรือไม่ได้อัพเดตให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน หากท่านต้องการแจ้งข้อมูลที่ถูกต้องกว่าสามารถส่งข้อมูลพร้อมระบุสถานที่และลิงค์มาได้ที่ contact@zthailand.com เพื่อให้ทีมงานได้ตรวจสอบและแก้ไขให้ถูกต้องยิ่งขึ้น หากท่านใดต้องการนำข้อมูลไปอ้างถึงบนเวบไซท์หรือสื่ออื่น กรุณาระบุที่มาและลิงค์กลับมาที่เวบไซท์ www.zthailand.com ในขณะที่ภาพถ่ายทั้งหมดยังถือเป็น ลิขสิทธิ์ของผู้ถ่ายภาพ โดยผู้ถ่ายภาพอนุญาตให้ใช้เฉพาะภายในเวบไซท์ www.zthailand.com เท่านั้น ห้ามมิให้ละเมิด ทำซ้ำ หรือดัดแปลงใดๆทั้งสิ้น