พระนอนแห่งอยุธยา พระพุทธไสยาสน์ที่มีพระพักตร์เปี่ยมด้วยเมตตาบารมี 

 

สถานที่ท่องเที่ยวอยุธยา : วัดโลกยสุธาราม

วัดโลกยสุธาหรือ วัดโลกยสุธาราม  เป็นวัดขนาดใหญ่อีกวัดหนึ่งตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของพระราชโบราณ น่าจะสร้างมาแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น  มีหลักฐานด้านเอกสารกล่าวถึงวัดโลกยสุธาอย่างจำกัด  โดยบ่งบอกเพียงว่ามีวัดโลกยสุธาอยู่ในทำเนียบโบราณสถานเมืองพระนครศรีอยุธยาเท่านั้น  ทั้งที่ในสภาพความเป็นจริงแล้ว  วัดโลกยสุธาเป็นวัดที่มีขนาดใหญ่ตั้งอยู่กลางเมือง  ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างหลากหลายรูปแบบที่ก่อสร้างอย่างประณีตงดงามด้วยฝีมือเชิงช่างชั้นครูทีเดียว  มีความเป็นไปได้ว่้าวัดโลกยสุธารามเคยมีชื่อว่า  “วัดสุทธาวาส” จนถึงสมัยอยุธยาตอนปลายอาจจะมีการปรับปรุงเปลี่ยนชื่อเป็น  “วัดโลกสุธา” ส่วนชื่อ  “วัดโลกยสุธา”  เป็นชื่อเรียกภายหลังเสียกรุงแล้วเมื่อชาวอยุธยาที่หลบหนีภัยสงครามกลับมาอยู่อาศัยบริเวณนี้อีกครั้งหนึ่ง  จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5  พระยาโบราณราชธานินทร์เข้ามาสำรวจวัดร้างในกรุงเก่าจึงลงชื่อวัดนี้ไว้ว่า  “วัดโลกยสุธา” ส่วนคำว่า โลกยสุธา  น่าจะหมายความว่า  น้ำอมฤตของโลก

 

วัดโลกยสุธาราม อยุธยา

 

 

 

 

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อเรียกอื่นๆ : วัดโลกยสุธา (ชื่อเรียกที่ถูกต้อง) , วัดพระนอน , วัดพระนอนอยุธยา
ชื่อภาษาอังกฤษ : Wat Lokayasutharam
อำเภอ : อำเภอพระนครศรีอยุธยา
จังหวัด : อยุธยา
แผนที่ : พิกัด 14.355601 , 100.551944

 

 

พระพุทธไสยาสน์ วัดโลกยสุธาราม

พระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่วัดโลกยสุธาราม เป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ทรงเครื่องหันพระเศียรไปทางด้านทิศเหนือ ผินพระพักตร์ไปทางด้านทิศตะวันตก เป็นพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ที่สุดที่มีอยู่ในเกาะกรุงศรีอยุธยา ยาว 42 เมตร สูง 8 เมตร เป็นลักษณะสมัยอยุธยาตอนกลาง ก่ออิฐถือปูนที่พระเศียรมีดอกบัวรองรับ พระบาทซ้อนกันเป็นมุมฉาก นิ้วพระบาทยาวเท่ากัน ในสมัยอยุธยาตอนปลาย กษัตริย์ทรงให้ความสำคัญแก่พระนอนอย่างมาก

ตามพุทธประวัติ พระพุทธรูปปางไสยาสน์มีที่มาจากตอนโปรดอสุรรินทราหู ผู้สำคัญตัวว่ามีร่างกายใหญ่โตกว่าพระพุทธเจ้า จึงไม่ยอมแสดงความอ่อนน้อมต่อพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ทรงประสงค์จะลดทิฐิของอสุรรินทราหู จึงทรงเนรมิตกายให้ใหญ่โตจนอสุรรินทราหูต้องแหงนคอเพื่อชมพุทธลักษณะ

การมาเยี่ยมชมควรมาในช่วงบ่าย ส่วนการที่ได้จะได้มาเห็นองค์พระสวมจีวรสีส้มขนาดใหญ่นั้นขึ้นอยู่กับว่าช่วงที่ผ่านมานั้นมีผู้ตัดมาถวายหรือไม่ ซึ่งก็เกิดแลัวแต่โอกาส และจะอยู่จนกระทั่งกรมศิลปากรเห็นสมควรว่าให้ถอดออกจากองค์พระ

 

วัดโลกยสุธาราม อยุธยา

 

ศาสนสถานในบริเวณวัดวัดโลกยสุธาราม

สถาปัตยกรรมที่วัดโลกยสุธานั้นปัจจุบันหลายอย่างคงเหลือแต่เพียงฐาน สถาปัตยกรรมทั้งหมดประกอบด้วย ปรางค์ประธาน เป็นปรางค์ก่ออิฐถือปูนตั้งอยู่บริเวณกึ่งกลางของวัด  หันหน้าไปทางทิศตะวันออก  องค์ปรางค์ตั้งอยู่บนฐานยกระดับซึ่งอาจจะประกอบด้วยฐานเรียงซ้อนกันประมาณ 3 ชั้น   อุโบสถตั้งอยู่ด้านหลังของปรางค์ประธาน  ปัจจุบันเหลือเฉพาะส่วนฐาน วิหารหลวง  วิหารราย วิหารทราย  วิหารพระพุทธไสยาสน์ซึ่งพังทลายลงเหลือเฉพาะส่วนฐาน  เจดีย์แปดเหลี่ยม   ระเบียงคด  กำแพงแก้ว เจดีย์ทรง 8 เหลี่ยมมีชั้นซ้อน ปรางค์ราย  หอระฆัง

 

วัดโลกยสุธาราม อยุธยา

 

การเดินทางโดยทางรถยนต์ส่วนตัว /  อยู่ในเกาะอยุธยา สามารถเข้าได้หลายทาง ทางที่สะดวกให้เข้าทางถนนคลองท่อ เมื่อขับมาจากทางวงเวียน ให้ขับดูทางซ้ายจะเห็นป้ายบอกทาง เลี้ยวเข้ามาอ้อมตัววัดจะเห็นองค์พระพุทธไสยาสน์หันหลังให้อยู่ วัดโลกยสุธาตั้งอยู่ทางด้านหลังพระราชวังหลวง และโรงเรียนประตูชัย ใกล้กับวัดวรโพธิ์ และวัดวรเชษฐาราม

 

การติดต่อ

ที่อยู่ : ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

 

ข้อมูลอ้างอิง

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : ป้ายข้อมูลภายในสถานที่ , wikipedia, สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์  กรมศิลปากร , สถาบันอยุธยาศึกษาและฝ่ายวิทยวิชาการ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยรสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
ภาพถ่ายโดย : Mahapunt Photography
เรียบเรียงโดย : www.zthailand.com


เนื้อหาและข้อความในบทความนี้ถูกเรียบเรียงขึ้นมาใหม่ ซึ่งได้มาจากข้อมูลที่ได้สำรวจจากสถานที่จริง และ/หรือ จากแหล่งข้อมูลอ้างอิงต่างๆ ด้วยเนื้อหาและข้อความถูกเรียบเรียงขึ้นมาใหม่ ข้อมูลบางส่วนจึงอาจมีการคลาดเคลื่อนหรือไม่ได้อัพเดตให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน หากท่านต้องการแจ้งข้อมูลที่ถูกต้องกว่าสามารถส่งข้อมูลพร้อมระบุสถานที่และลิงค์มาได้ที่ contact@zthailand.com เพื่อให้ทีมงานได้ตรวจสอบและแก้ไขให้ถูกต้องยิ่งขึ้น หากท่านใดต้องการนำข้อมูลไปอ้างถึงบนเวบไซท์หรือสื่ออื่น กรุณาระบุที่มาและลิงค์กลับมาที่เวบไซท์  www.zthailand.com  ในขณะที่ภาพถ่ายทั้งหมดยังถือเป็น ลิขสิทธิ์ของผู้ถ่ายภาพ โดยผู้ถ่ายภาพอนุญาตให้ใช้เฉพาะภายในเวบไซท์ www.zthailand.com เท่านั้น ห้ามมิให้ละเมิด ทำซ้ำ หรือดัดแปลงใดๆทั้งสิ้น