วิถีแห่งสายน้ำที่สืบทอดกันรุ่นต่อรุ่น แหล่งนัดพบการค้าทางน้ำโบราณ 100 ปี

 

สถานที่ท่องเที่ยว สมุทรสงคราม : ตลาดน้ำท่าคา

ตลาดน้ำท่าคา มีที่มาที่ไปคือในสมัยก่อนชาวบ้านในละแวกทำนบท่าคามีอาชีพทำสวนปลูกพืชผักต่างๆก็นำมาแลกเปลี่ยนกัน จากนั้นจึงมีการขยายเป็นการแลกเปลี่ยนค่าขายกันระหว่างหมู่บ้าน จากนัดทำนบเรือพ่อค้า แม่ค้าก็จะพายเรือมาเรื่อย ๆ ตามลำคลองท่าคา ในที่สุดก็มาติดตลาดเป็นกลุ่มเป็นก้อนกลายเป็นตลาดน้ำท่าคาในปัจจุบัน ถือได้ว่าเป็นตลาดน้ำที่มีอายุมากกว่า 100 ปี ซึ่งยังคงวิถีดั้งเดิมคือยังนำของมาแลกกันอยู่ หากมาที่นี่แล้วอย่าลืมนั่งเรือพายออกไปตามเทือกสวนต่างๆ มีสิ่งที่น่าสนใจคือ การทำน้ำตาลมะพร้าวที่เตาตาล บ้านครูศิริ น่าสนใจมาก

 

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อภาษาอังกฤษ : Thaka Floating Market
วันเปิดให้บริการ : ทุกวันเสาร์และอาทิตย์ นอกจากนั้นยังเปิดในวันขึ้นหรือแรม 2 ค่ำ 7 ค่ำ 12 ค่ำ วันหยุดนัขตฤกษ์บางวัน
เวลาเปิด-ปิด : 06:00 – 14:00 แต่ตลาดจะเริ่มวายหลัง 11:00
อำเภอ : อำเภออัมพวา
จังหวัด : สมุทรสงคราม
แผนที่ : พิกัด 13.47185, 99.994956

 

 

อุดหนุนตลาดน้ำท่าคา ที่ยังสืบทอดธรรมเนียมการแลกเปลี่ยนสิ่งของซึ่งกันและกัน

ตลาดน้ำท่าคามีเอกลักษณ์เหมือนตลาดน้ำอื่นๆ คือเราจะได้เห็นชาวบ้านพายเรือนำสินค้ามาขาย เรือที่บรรทุกผัก ผลไม้ บรรจุเต็มลำ สนใจอุดหนุนกันได้    สินค้ายอดนิยมของตลาดน้ำท่าคาจะเป็นสินค้าที่ผลิตจากมะพร้าว ได้แก่ น้ำมะพร้าวสด น้ำตาลสด น้ำตาลปี๊บ เนื้อมะพร้าวตากแห้ง ฯ นอกจากนั้นยังมีขายอาหาร เครื่องดื่ม ขนม ให้รับประทานกัน ควรมาแต่เช้าเพราะสายๆตลาดก็จะเริ่มวายแล้ว

ตลาดน้ำท่าคา สมุทรสงคราม

 

นั่งเรือพายชมธรรมชาติวิถีชีวิตแห่งสายน้ำและแหล่งท่องเที่ยว

เมื่อมาถึงที่ แนะนำให้ลองล่องเรือพายที่จะลัดเลาะไปตามคูคลอง สวนมะพร้าวต่างๆ ใช้เวลาเที่ยวชมราว 40 นาที เรือจะแวะพักตามจุดต่างๆให้เราได้ขึ้นไปชม ได้แก่ บ้านกำนันจัน บ้านเรือนไทย และเตาตาลบ้านครูศิริ ร่มรื่น ถ้ามาช่วงเช้าๆจะมีนกออกมาให้เห็นมากมาย เรือจะมีให้บริการที่จุดบริเวณตลาดน้ำท่าคา มีให้บริการ 08:00 – 12:00 นอกเวลานี้ต้องเหมาเรือ ค่าเรืออยู่ที่ประมาณคนละ 30 บาท ค่าเหมาเรือปกติประมาณ 200 บาท (ราคาสำรวจปี 2012)

 

ตลาดน้ำท่าคา สมุทรสงคราม

 

 

ย้อนรอยรัชกาลที่ 5 ประพาสต้นที่บ้านกำนันจัน

แม้กาลเวลาจะล่วงเลยผ่านมา 100 ปี แต่ยังสามารถพบเห็นการเสด็จประพาสต้นของรัชกาลที่ 5 ที่เสด็จตำบลท่าคาในช่วงปี พ.ศ. 2447 (ร.ศ. 123) ได้ มีเรื่องเล่ากันว่าพระองค์เสด็จบ้านกำนันจัน กำนันตำบลท่าค่าเพื่อติดตามการเลิกทาส เมื่อพระองค์ทอดพระเมตรว่ามีการเลิกทาสจริงจึงได้พระราชทานของกำนันและแต่งตั้งให้เป็น “หมื่นปฏิคมคุณวัติ” แม้ร่องรอยจะสูยหายไปแต่บ้านเรือนดั้งเดิมของกำนันและเสาผูกทาสรับใช้ ลูกหลานก็ยังคงรักษาและยังคงรูปลักษณ์เรือนไม้แบบดั้งเดิมไว้

 

ตลาดน้ำท่าคา สมุทรสงคราม

 

 

เรือนไทยโบราณ ชม-ศึกษาเครื่องใช้อุปกรณ์การเกษตรโบราณ

ที่เรือนไทยโบราณ เรือจะเทียบท่าจอดให้ชมและศึกษาเครื่องใช้อุปกรณ์การเกษตรสมัยโบราณซึ่งวางอยู่รอบๆเรือนไทย มีทั้งอุปกรณ์ขนาดใหญ่และขนาดเล็ก มีชื่อเรียกแปลกๆ อาทิเช่น โคครอบน้ำตาล เป็นอุปกรณทำจากไผ่สานใช้ครอบในกระทะเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำตาลล้น เป็นต้น
บ้านเรือนไทยโดยนายทวีป เจือไทย ตั้งอยู่เลขที่ 72 หมู่ 2 ต.ท่าคา อ,อัมพวา จ.สมุทรสงคราม

 

ตลาดน้ำท่าคา สมุทรสงคราม

 

 

 

ชมวิธีการทำน้ำตาลมะพร้าวอย่างใกล้ชิดที่เตาตาลบ้านครูศิริ

น้ำตาลสดแม่กลองเป็นของขึ้นชื่อของแม่กลอง แต่น้ำตาลสดที่นี่ไม่ได้ทำจากตาลโตนดแต่ทำจากตาลมะพร้าว ในบริเวณนี้มีสวนมะพร้าวสาธิตวิธีการทำน้ำตาลมะพร้าวหลายแห่ง รวมถึงที่เตาตาล บ้่านครูศิริ ด้วย ที่นี่เรามีโอกาสเห็นการทำน้ำตาลพื้นบ้านซึ่งเป็นวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมอยู่ กรรมวิธีคือการนำน้ำตาลมะพร้าวออกมาจากงวงมะพร้าว จากนั้นนำน้ำที่รองจากกระบอกมาตั้งไฟเคี่ยวลงในกะทะที่ยังใช้ฟืนให้ความร้อน กระบวนการเคี่ยวจะย้ายจากกะทะหนึ่งไปกะทะหนึ่งทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆจนได้น้ำตาลเนื้อดีเนื้อสีน้ำตาลแดง ละเอียดเนียนนุ่มลิ้น ซึ่งผลิตภัณฑ์จากน้ำตาลปึกของที่นี่ยังถูกส่งไปจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆอีกด้วย

เตาตาล บ้านครูศิริ ตั้งอยู่ที่ 30/1 หมู่ 2 ต.ท่าคา อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม

 

ตลาดน้ำท่าคา สมุทรสงคราม

 

 

ล่องเรือดูหิ่งห้อยคลองท่าคา

ที่ท่าค่าก็เป็นจุดดูหิ่งห้อยอีกแห่งเหมือนกัน เพียงแต่เรื่องความมีชื่อเสียงอาจจะสู้ทางตลาดน้ำอัมพวาไม่ได้ หากใครสนใจสามารถลงเรือที่ตลาดน้ำแต่ต้องนัดหมายล่วงหน้า ซึ่งจะเป็นเรือพายของชาวบ้านที่อยู่กลุ่มเรือพาย หรือติดต่อรีสอร์ทที่อยู่รอบๆคลองท่าคา ที่นี่หิ่งห้อยขึ้นชื่อว่าไม่น้อยหน้าอัมพวา และไม่มีเสียงเครื่องยนต์มากวนใจ เวลาที่ดีทีสุดคือปลายฝนต้นหนาว จนถึงเดือน พ.ย.

 

กิจกรรมประเพณีตลาดน้ำท่าคา

ที่ตลาดน้ำท่าคาจะมีการจัดงานทอดผ้าป่าในวันเพ็ญเดือน 12 ซึ่งจะมีกิจกรรมให้ได้ดูมากกมาย อาทิ แข่งขันเรือพายทุกประเภท แข่งขันพายกระทะน้ำตาล ประกวดกระทงใบตอง และแข่งขันชกมวยทะเล นอกจากนั้นในช่วงเดือนตุลาคม จะมีประเพณีตักบาตรทางน้ำพระสงฆ์ 299 รูปทุกปี

 

 

เดินทางโดยทางรถยนต์ส่วนตัว /  จากถนนพระราม 2 (หมายเลข 35) เข้าได้ 2 ทางคือ บริเวณตลาดบางแก้วและเข้าทางตัวเมืองสมุทรสงคราม หรือ จากถนนเพชรเกษม บริเวณสี่แยกบางแพ มุ่งหน้าไปทางตัวเมืองสมุทรสงคราม

 

การติดต่อ

ที่อยู่ : หมู่ที่ 2 ตำบลท่าคา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
การติดต่อ : องค์การบริหารส่วนตำบลท่าคา 034766208

 

ข้อมูลอ้างอิง

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : โบรชัวร์
ภาพถ่ายโดย : Mahapunt Photography
เรียบเรียงโดย : www.zthailand.com


เนื้อหาและข้อความในบทความนี้ถูกเรียบเรียงขึ้นมาใหม่มาจากข้อมูลที่ได้สำรวจมาจากสถานที่จริง และ/หรือ จากแหล่งข้อมูลอ้างอิงต่างๆ ข้อมูลบางส่วนอาจมีการคลาดเคลื่อนหรือไม่ได้อัพเดตให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน หากท่านต้องการแจ้งข้อมูลที่ถูกต้องกว่าสามารถส่งข้อมูลพร้อมระบุสถานที่และลิงค์มาได้ที่ contact@zthailand.com เพื่อให้ทีมงานได้ตรวจสอบและแก้ไขให้ถูกต้องยิ่งขึ้น หากท่านใดต้องการนำข้อมูลไปอ้างถึงบนเวบไซท์หรือสื่ออื่น กรุณาระบุที่มาและลิงค์กลับมาที่เวบไซท์  www.zthailand.com  ในขณะที่ภาพถ่ายทั้งหมดยังถือเป็น ลิขสิทธิ์ของผู้ถ่ายภาพ โดยผู้ถ่ายภาพอนุญาตให้ใช้เฉพาะภายในเวบไซท์ www.zthailand.com เท่านั้น ห้ามมิให้ละเมิด ทำซ้ำ หรือดัดแปลงใดๆทั้งสิ้น