ตลาดร้อยปีที่ดังสุดในประเทศไทย ตลาดมีชีวิต พิพิธภัณฑ์มีชีวา

 

แหล่งท่องเที่ยวสุพรรณบุรี : ตลาดสามชุก

ตลาดสามชุก เดิมชื่อตลาดสามเพ็ง เป็นตลาดที่ใช้ติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าที่สำคัญของสุพรรณบุรีมาตั้งแต่เมื่อ 100 กว่าปีก่อน ตลาดสามชุกเป็นชุมชนที่สำคัญของชาวไทยและชาวจีนในช่วงหนึ่ง แต่เช่นเดียวกับตลาดอื่นๆเมื่อการคมนาคมทางน้ำได้ลดบทบาทลงไปเนื่องจากมีถนนเข้ามา ตลาดริมน้ำอย่างตลาดสามชุกก็ลดบทบาทตามไปด้วย ปัจจุบันตลาดสามชุกยังคงอนุรักษ์ความเป็นตลาดโบราณร้อยปีอยู่ โดยถูกพัฒนาเรื่อยมาให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว จนเป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวที่ต่างก็แวะมาสัมผัสบรรยากาศตลาดโบราณอย่างไม่ขาดสาย ในช่วงวันหยุดที่ตลาดสามชุกจะเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวที่มาเดินเล่น หาของกิน และซื้อของฝาก ภาพในปัจจุบันตลาดสามชุกจึงเป็นแนวตลาดการค้ามากกว่าการมาเห็นวิถีชีวิตของคนในชุมชนเฉกเช่นในอดีต

ตัวตลาดสามชุกเป็นแบบห้องแถวไม้โบราณ มีทางเดินเป็นซอยอยู่ทั้งหมด 4 ซอย หัวซอยตลาดสามชุกติดริมแม่น้ำสุพรรณมีทางลงไปยังแพท่าเทียบเรือ มีสะพานพรประชาข้ามแม่น้ำไปอีกฝั่งได้ สิ่งที่น่าสนใจของตลาดสามชุกคือของกินมากมายไม่ว่าจะเป็นเป็ดย่าง ร้านกาแฟ ก๋วยเตี๋ยวต่างๆ ของฝากอย่างขนมสาลี่ ฯ นอกจากนั้นนักท่องเที่ยวยังสามารถแวะชม พิพิธภัณฑ์บ้านขุนจำนงจีนารักษ์ บ้านโค้ก และร้านรวงต่างๆมากมายที่ยังเต็มไปด้วยกลิ่นอายแบบโบราณ

 

ตลาดสามชุก สุพรรณบุรี

 

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อเรียกอื่นๆ : ตลาดร้อยปีสามชุก
ชื่อภาษาอังกฤษ : Samchuk Market , Samchuk Market 100 Year Market
วันเปิดให้บริการ :
เวลาเปิด-ปิด : 08:00 – 18:00
อำเภอ : สามชุก (Sam Chuk)
จังหวัด : สุพรรณบุรี (Suphan Buri)
แผนที่ : พิกัด 14.755518,100.095056

 

 

ประวัติตลาดสามชุก

ตลาดสามชุก เป็นตลาดสำคัญในการติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าที่สำคัญในอดีต ตั้งแต่เมื่อ 100 กว่าปีก่อน ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน จังหวัดสุพรรณบุรี แต่เมื่อถนนคือ เส้นทางจราจรทางบกที่เข้ามาแทนที่การเดินทางทางน้ำ ทำให้คนหันหลังให้กับแม่น้ำท่าจีน ความสำคัญของตลาดแลกเปลี่ยนสินค้าริมน้ำเริ่มลดลง บรรยากาศการค้า ขายในตลาดสามชุกเริ่มซบเซา และเมื่อต้องแข่งขันกับห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ และตลาดนัดภายนอก ทำให้ร้านค้าภายในตลาดต้องหาทางปรับตัว และเมื่อราชพัสดุ เจ้าของที่ดินที่ชาวบ้านเช่าที่ดินมายาวนาน ดำริจะรื้ออาคารตลาดเก่า สร้างตลาดใหม่ จึงทำให้ชาวบ้านพ่อค้าที่อยู่ในตลาดสามชุก ครูอาจารย์ที่เห็นคุณค่าตลาดเก่า รวมตัวเป็นคณะกรรมการพัฒนาตลาดสามชุกเชิงอนุรักษ์ระดมความคิด หาทางอนุรักษ์ตลาดและที่อยู่ของตนไว้ และหาทางฟื้นคืนชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้ง เป็นที่มาของกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ใช้การท่องเที่ยวศึกษาวิถีชีวิตชุมชนดั้งเดิม ประวัติศาสตร์ชุมชน เป็นเครื่องมือการพัฒนาอาคารไม้เก่าแก่ ในตลาดสามชุก ที่ก่อสร้างเป็นแนวตั้งฉากกับแม่น้ำท่าจีน เป็นสิ่งบอกให้รู้ว่าเป็นลักษณะของตลาดจีนโบราณ เป็นชุมชนชาวไทย-จีน ที่ยังคงอยู่มาถึงปัจจุบัน ลวดลายฉลุไม้ที่เรียกว่าลายขนมปังขิง ซึ่งเท่าที่พบในตลาดนี้มีถึง 19 ลาย คือ ศิลปะตกแต่งอาคารไม้โบราณ ที่หาดูได้ยากแล้วในปัจจุบัน หากไม่ได้รับการอนุรักษ์ไว้ก็ย่อมสูญหายไปเช่นเดียวกับตลาดโบราณอื่นๆนอก จากสถาปัตยกรรม อาคารไม้โบราณที่พบเห็นได้ตลอดแนวทางเดิน 2 ข้างทางเดินในตลาด วิถีชีวิตบรรยากาศภายในตลาดการค้าขายที่ยังคงรักษาวิถีแบบดั้งเดิมเช่นใน อดีต และบรรยากาศน้ำใจอัธยาศัยไมตรีของแม่ค้า ข้าวของเครื่องใช้ ขนมอาหารที่นำมาตั้งขายในตลาดสามชุก เป็นสิ่งยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน ไม่ใช่สิ่งที่จำลองมาเพื่อให้ผู้ชมได้ดูชั่วครั้งชั่วคราว แต่เหล่านี้คือ วัฒนธรรมที่สืบเนื่องจากอดีต บ่มเพาะมาเป็น 100 ปี

 

 

เดิมชมตลาด แวะชิมของอร่อย ดูบ้านเรือนและร้านค้าโบราณ

ตลอดตรอกซอกซอยในตลาดสามชุกเต็มไปด้วยสิ่งที่น่าสนใจมากมาย หากเดินชมจนทั่วก็กินเวลาพอสมควรทีเดียว แต่ละซอยจะเต็มไปด้วยแหล่งของกิน เต็มไปหมด ส่วนใหญ่อยู่บริเวณป้ายตลาดสามชุกติดกับที่จอดรถ นักท่องเที่ยวมักจะคุ้นชินภาพร้านกาแฟโบราณ หน้าร้านขายเป็ดย่างที่ไม่เคยร้างนักท่องเที่ยวที่แวะมาซื้อหากัน นอกจากนั้นบริเวณส่วนต่างๆยังเต็มไปด้วยร้านอาหารอร่อยอีกมากมาย ของฝากชื่อดังของสุพรรณอย่างขนมสาลี่ ฯ จุดที่นักท่องเที่ยวควรแวะชม ได้แก่

  • “ร้านรัชพร” ร้านนาฬิกาโบราณ (ซอย 1)
  • ร้านกาแฟท่าเรือส่ง (ศิวะนันต์พานิช) 
  • ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเก่าตรงข้ามวัดสามชุก (เหล่าปึงเถ่ากง)
  • ฮกอันโอสถ ร้านขายยาคนจีนเก่าแก่
  • คูเซ่งฮวด หรือ ร้านนายไผ่ ร้านขายเครื่องใช้ครัวเรือน
  • บ้านของเก่า “ไฟศาลสมบัติ” ของใช้และของสะสมสมัยคุณพ่อ
  • ร้านหยอง ทำกระดุมด้วยมือ (ซอย 8)
  • โรงแรมอุดมโชค โรงแรมเก่าแก่แห่งตลาดสามชุก (ซอย 2)
  • บุญช่วยหัตถกิจ” ร้านนาฬิกาโบราณ (ซอย 1)
  • บ้านลิ่มเต๊กเซ้ง ของใช้มรดกตกทอด สมัยคุณแม่ และคุณยาย (ซอย 3)
  • ร้านขายของชำป้านา (ซอย 3)
  • ร้านถ่ายภาพศิลป์ธรรมชาติ ร้านถ่ายรูปเก่าแก่แห่งที่ 2 ของตลาดสามชุก (ซอย 3)
  • ร้านขายทองมีชัย ร้านขายเครื่องโบราณ (ซอย 4)
  • โรงตีเหล็ก “ซ. เจริญพานิช” ร้านทำเคียวตรา “ ซ 3 ” ในตลาดสามชุก (ซอย 6)

 

ตลาดสามชุก สุพรรณบุรี

ตลาดสามชุก สุพรรณบุรี

ตลาดสามชุก สุพรรณบุรี

ตลาดสามชุก สุพรรณบุรี

ตลาดสามชุก สุพรรณบุรี

ตลาดสามชุก สุพรรณบุรี

 

พิพิธภัณฑ์บ้านขุนจำนงจีนารักษ์

ขุนจำนงจีนารักษ์ นามเดิมว่า หุย แซ่เฮง เป็นคนจีนเกิดในประเทศไทย ที่ อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ประกอบอาชีพค้าขาย มีโรงเหล้า และโรงยาฝิ่น กิจการค้าขายของท่านเจริญรุ่งเรืองไปถึง 6 อำเภอ ท่านจึงเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ประกอบกับท่านเป็น คนดีมีเมตตา ช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก จึงได้เป็นผู้นำชุมชน คุณงามความดีของท่าน ทำให้ท่านได้รับบรรดาศักดิ์ เป็น ขุนจำนงจีนารักษ์ ตำแหน่งกรรมการพิเศษจังหวัดสุพรรณบุรี  เมื่อรัฐบาลประกาศยกเลิกการสูบฝิ่น ท่านจึงหันมาทำสวนทำไร่ และเสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2517 รวมอายุได้ 83 ปี บ้านของท่านในส่วนของ คุณเคียวยี้ ซึ่งเป็นบุตรสาวของนาย โต้วซ้ง จีนารักษ์ อนุญาติให้คณะกรรมการพัฒนาตลาดสามชุก ปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ โดยใช้ชื่อ พิพิธภัณฑ์บ้านขุนจำนง จีนารักษ์ ซึ่งเป็นสถานที่เก็บของโบราณ สำหรับผู้ที่สนใจเข้า ชมเพื่อศึกษาหาความรู้มาจนถึงปัจจุบันนี้

 

ชื่อภาษาอังกฤษ : Bann Khun Chumnongjeenarak Museum
วันเปิดให้บริการ :
เวลาเปิด-ปิด : 08:00 – 17:00
ค่าเข้าชม : ไม่เสียค่าเข้าชม
หมายเหตุ : ต้องฝากกระเป๋าหากขึ้นชั้นสอง

 

ตลาดสามชุก สุพรรณบุรี

ตลาดสามชุก สุพรรณบุรี

 

 

บ้านโค้ก Baan Coke

บ้านโค้ก ตั้งอยู่ที่ซอย 2 ของตลาดสามชุก ในบ้านโค้กด้านในเต็มไปด้วยสินค้า บรรจุภัณฑ์ และของที่ระลึกที่เกี่ยวกับ “โค้ก” เครื่องดื่มที่เรารู้จักกันดี เรียกได้ว่าละลานตามากมาย หากใครมาตลาดสามชุกไม่ควรพลาดบ้านสีแดงหลังนี้

 

ชื่อเรียกอื่นๆ : พิพิธภัณฑ์บ้านโค้ก
ชื่อภาษาอังกฤษ : Baan Coke: The Coke Collection House
วันเปิดให้บริการ :
เวลาเปิด-ปิด : เสาร์และอาทิตย์ 08:30 – 17:00จันทร์ – ศุกร์ 08:30 – 16:30
ค่าเข้าชม : 20 บาท
หมายเหตุ : Facebook

 

ตลาดสามชุก สุพรรณบุรี บ้านโค้ก Baan Coke

ตลาดสามชุก สุพรรณบุรี บ้านโค้ก Baan Coke

 

เรือล่องแม่น้ำที่สามชุก

วัดสามชุกและชาวชุมชน มีเรือเพื่อบริการนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมวัดทางน้ำ 3 ลำ โดยขึ้นเรือที่ท่าน้ำตลาดสามชุก พาท่านภูมิทัศน์ทางเหนือ พบกับบ้านเรือนริมน้ำที่ยังมีร่องรอย ท่าลงสินค้า ท่าถ่าน ท่าข้าว โรงสี จนถึงเขื่อนชลมาร์ดพิจารณ์ที่ใช้เวลาก่อสร้างถึง 20 ปี จากนั้นเรือจะย้อนลงใต้ผ่านตลาด ล่องแม่น้ำไปถึงวัดสามชุก ซึ่งเป็นวัดสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย มีโบราณวัตถุมากมายสะสมเป็นพิพิธภัณฑ์ ดูแลรักษาโดย พระภิกษุสงฆ์ในวัด มีตลาดซึ่งเป็นบ้านเรือนริมน้ำเรียงรายสองฟากฝั่งว่ากันว่าเป็นตลาดสามชุกแห่งแรก มีหลักฐานคือศาลเจ้าพ่อหลักเมืองแหล่งรวมใจตรงข้ามวัดที่ยังคงอยู่ ก่อนจะเกิดตลาดแหล่งที่ 2 ที่บ้านสามเพง ในรัชกาลที่ 5 ถึงปัจจุบัน
1. เรือวัดสามชุก ฟรี หรือบริจาคตามอัธยาศัย
2. เรือ คุณมนูญ ขาววิเศษ ค่าบริการ 59 บาท
3. เรือ นายเชง คุณเข็ม เรือนสาคร ค่าบริการ 59 บาท หรือเหมาจ่าย ตามแต่ตกลงกัน

 

เข้าวัด ไหว้พระ ขอพร รอบๆตลาดสามชุก

ในบริเวณรอบๆอำเภอสามชุกมีวัดอยู่มากมาย ได้แก่
วัดสามชุก - พิพิธภัณฑ์วัดสามชุก ชมของโบราณหายาก หงษ์สัมฤทธิ์คู่ อาวุธโบราณ พระพุทธรูป บานประตู้ไม้แกะสลัก ฯลฯ สักการะหลวงพ่อธรรมจักร พระพุทธรูปสมัยอู่ทอง และรอยพระพุทธบาทสี่รอย ประดิษฐานภายในมณฑปไม้เก่าแก่
วัดวิมลโภคาราม - ไหว้พระ เยี่ยมชมพระโบราณ หลวงพ่อ ๑,๐๐๐ ปี ที่ประดิษฐานอยู่ภายในวิหารยกพื้นสูง
วัดบางขวาก – กราบไหว้หลวงพ่อดำ เดินชมแหล่งขุดค้นลูกปัดโบราณ ซึ่งโบราณวัตถุบางส่วนได้จัดแสดงไว้ในพิพิภัณฑ์คนที่ชอบของเก่าไม่ควรพลาดเยี่ยมชม ทั้งของใช้ เครื่องเงิน ลูกปัด วัตถุโบราณต่าง ๆ
วัดคลองขอม – วัดเก่าแก่ที่ได้มีการขุดพบรอบพระพุทธบาทจำลองอายุประมาณ 160 กว่าปี มีลักษณะเป็นพระพุทธบาทสี่รอยของพระพุทธเจ้า 4 พระองค์ และบริเวณด้านหน้าพระอุโบสถยังปรากฎเจดีย์ทรงระฆัง ฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองที่เก่าแก่ แต่ที่น่าสนใจคงจะเป็นกุฏิไม้โบราณซึ่งมีอายุกว่า 160 ปี ที่ยังคงงดงาม ทั้งรูปลักษณ์และคุณค่า
วัดบ้านทึง – ชมวิหารเก่า พระพุทธรูปศิลปะสมัยอู่ทองเนื้อศิลาแลงและศิลาทราย พระพุทธไสยาสน์ องค์หลวงพ่อโต รูปปั้นท้าวเวสสุวรรณ และเรือที่ขุดจากไม้ตะเคียนทั้งต้น
วัดบางแอก – วัดร้างที่ยังคงเหลือร่องรอย ซากปรักหักพัง รวมทั้งพระพุทธรูปซึ่งเป็นที่เลื่อมใสของชาบบ้าน “หลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์” ประดิษฐานอยู่บนฐานอุโบสถเก่าที่ถูกปกคลุมด้วยต้นโพธิ์ใหญ่
วัดดอนไร่ – ตามรอยพระครูสุวรรณวุฒาจารย์ (หลวงพ่อมุ่ย) พระสงฆ์ผู้สร้างคุณูปการให้แก่ชุมชนมากมาย
วัดหนองผักนาก – ชมสิ่งก่อสร้างภายในวัดหนองผักนากใช้เสาที่ทำจากต้นไม้ทั้งต้น หลวงพ่อยิ้ม พระพุทธรูปที่มีรอยยิ้มที่มุมปาก
วัดลาดสิงห์ – วัดที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้สร้างวัดนี้ขึ้นเพื่ออุทิศถวายแด่พระสุพรรณกัลยา หลังจากที่พระองค์ทรงทำยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราชา กราบพระพุทธรูปหลวงพ่อดำที่เคารพของคนในท้องที่มาช้านาน

 

 

การเดินทางโดยทางรถยนต์ส่วนตัว /  จากกรุงเทพฯ ผ่าน อ. บางบัวทอง จ. นนทบุรี ไปจนถึงตัว อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ระยะทางประมาณ 107 กม. จากนั้นไปตามหลวงหมายเลข 340 ผ่าน อ.ศรีประจันต์ (ห่างจาก อ.เมือง ประมาณ 20 กม.) ไปต่อจะถึงแยกเข้าตลาดสามชุก ซึ่งบริเวณแยกเข้าตลาดจะมีห้างโลตัสอยู่ ตัวตลาดอยู่ริมแม่น้ำสุพรรณติดกับที่ว่าการอำเภอสามชุก ที่จอดรถอยู่ติดกับแม่น้ำ หรือใช้บริการที่จอดรถเอกชนที่อยู่บริเวณโดยรอบก็ได้ ค่าจอดประมาณ 20 บาท

การเดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะ  /การเดินทางด้วยรถตู้จากกรุงเทพ
ท่ารถตู้จะอยู่ตรงแยกคอกวัวฝั่งตรงข้ามกับกองสลาก ซอยที่ 2 เลยป้ายรถเมล์มา(ใกล้โรงแรมรัตนโกสินทร์) ซึ่งแถวนั้นจะมีท่ารถตู้ไปกาญจนบุรีและไปนครปฐมด้วย ที่ท่ารถตู้จะเขียนป้ายไปสามชุกตลาดร้อยปี เมื่อมาถึงสามชุกแล้ว จากท่ารถตู้เดินมาไม่ไกลก็สามารถเดินเข้าเยี่ยมชมตลาดร้อยปีได้การเดินทางด้วยรถทัวร์จากกรุงเทพ
สามารถขึ้นได้ทั้งที่ สถานีปรับอากาศสายใต้ และ หมอชิต โดยจะต้องขึ้นรถที่เขียนว่า กรุงเทพฯ-ท่าช้าง ทั้ง2สถานี

 

 

การติดต่อ

ที่อยู่ : 73 หมู่ 2 ต.สามชุก จ.สุพรรณบุรี 72130
การติดต่อ : คณะกรรมการพัฒนาตลาดสามชุกเชิงอนุรักษ์ 035 571571
Official Website : http://www.samchuk.in.th
Social  Media : Facebook , Twitter

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : เวบไซท์ตลาดสามชุก
ภาพถ่ายโดย : Mahapunt Photography
เรียบเรียงโดย : www.zthailand.com

 

 

 

เนื้อหาและข้อความในบทความนี้ถูกเรียบเรียงขึ้นมาใหม่ ซึ่งได้มาจากข้อมูลที่ได้สำรวจจากสถานที่จริง และ/หรือ จากแหล่งข้อมูลอ้างอิงต่างๆ ด้วยเนื้อหาและข้อความถูกเรียบเรียงขึ้นมาใหม่ ข้อมูลบางส่วนจึงอาจมีการคลาดเคลื่อนหรือไม่ได้อัพเดตให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน หากท่านต้องการแจ้งข้อมูลที่ถูกต้องกว่าสามารถส่งข้อมูลพร้อมระบุสถานที่และลิงค์มาได้ที่ contact@zthailand.com เพื่อให้ทีมงานได้ตรวจสอบและแก้ไขให้ถูกต้องยิ่งขึ้น หากท่านใดต้องการนำข้อมูลไปอ้างถึงบนเวบไซท์หรือสื่ออื่น กรุณาระบุที่มาและลิงค์กลับมาที่เวบไซท์  www.zthailand.com  ในขณะที่ภาพถ่ายทั้งหมดยังถือเป็น ลิขสิทธิ์ของผู้ถ่ายภาพ โดยผู้ถ่ายภาพอนุญาตให้ใช้เฉพาะภายในเวบไซท์ www.zthailand.com เท่านั้น ห้ามมิให้ละเมิด ทำซ้ำ หรือดัดแปลงใดๆทั้งสิ้น