ชมการแสดงหนังใหญ่ที่หาชมได้ยาก สืบทอดและอนุรักษ์ศิลปะการแสดงชั้นสูงตั้งแต่โบราณ
แหล่งท่องเที่ยวราชบุรี : หนังใหญ่ พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน
หนังใหญ่นั้น เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของไทย ซึ่งในอดีตได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปะการแสดงชั้นสูง มีประวัติอันยาวนานโดยมีหลักฐานการแสดงหนังใหญ่มาตั้งแต่สมัยอยุธยา มาจนถึงช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันมีเพียงสามคณะเท่านั้นที่ยังคงสืบสานการเชิดหนังใหญ่เอาไว้ คือหนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์ จังหวัดสิงห์บุรี หนังใหญ่วัดบ้านดอน จังหวัดระยอง และหนังใหญ่วัดขนอน จังหวัดราชบุรี โดยหนังใหญ่วัดขนอนนั้น ได้มีการสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ผู้ที่ริเริมในการแกะสลักตัวหนังคือ ท่านพระครูศรัทธาสุนทร (หลวงปู่กล่อม) ท่านมีความคิดที่จะสร้างหนังใหญ่ให้มีขนาดใหญ่กว่าเดิม โดยชุดแรกที่สร้างคือ ชุดหนุมานถวายแหวน ต่อมาได้สร้างเพิ่มอีก 9 ชุด ปัจจุบันมีตัวหนัง 313 ตัว จัดเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์วัดขนอน เป็นสมบัติของชาติที่วัดขนอนได้รับสืบต่อกันมา
ทั้งหนังใหญ่และศิลปะการแสดงอื่นๆของไทยเองต่างเผชิญปัญหาตด้านความนิยมตามการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยและการเข้ามาทดแทนของสื่อบันเทิงสมัยใหม่ ในปี พ.ศ. 2532 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเห็นคุณค่าในการแสดงและศิลปะในตัวหนังใหญ่ ทรงมีพระราชดำริให้ทางวัดช่วยอนุรักษ์หนังใหญ่ โดยจัดทำหนังใหญ่ขึ้นแทนชุดเก่าที่ชำรุด ซึ่งทางมหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นผู้รับผิดชอบจัดทำ พระองค์ได้พระราชทานให้วัดขนอนนำมาใช้ในการแสดง ส่วนหนังใหญ่ชุดเก่าเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์วัดขนอนและมิให้นำไปทำการแสดง จึงทำให้คณะหนังใหญ่วัดขนอนกลับมามีชีวิตอีกครั้ง
ทางวัดขนอนเองจึงได้อนุรักษ์ศิลปะการแสดงโดยฟื้นฟูการแสดงหนังใหญ่ โดยมีการจัดแสดงหนังใหญ่วัดขนอนให้บุคคลทั่วไปและนักท่องเที่ยวได้ชมทุกวันเสาร์และอาทิตย์วันละหนึ่งรอบ มีโรงแสดงหนังใหญ่วัดขนอนเป็นสัดเป็นส่วน นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
การสืบทอดและฟื้นฟูหนังใหญ่วัดขนอน นี้เองทำให้ได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน 6 ชุมชนดีเด่นของโลกที่มีผลงานในการอนุรักษ์ฟื้นฟูมรดกวัฒนธรรมเชิงนามธรรม และได้รับรางวัลจากองค์กรยูเนสโก (UNESCO) นอกจากนั้นในทุกๆปี จะงานเทศกาลหนังใหญ่วัดขนอน ในระหว่างวันที่ 13 – 14 เมษายน ตั้งแต่ช่วงบ่ายจนถึงค่ำ
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อภาษาอังกฤษ : | Nang Yai Shadow Play at Wat Khanon | ||
ค่าเข้าชม : | ไม่เสียค่าเข้าชม | ||
อำเภอ : | อำเภอโพธาราม (Photharam) | ||
จังหวัด : | ราชบุรี (Ratchaburi) | ||
แผนที่ : | พิกัด 13.726847,99.845047 |
ชมการแสดงหนังใหญ่ ณ โรงมหรสพหนังใหญ่วัดขนอนที่โรงมหรสพของวัดขนอนเปิดให้บุคคลทั่วไปได้รับชมการแสดงหนังใหญ่ในช่วงวันเสาร์และอาทิตย์ โดยการเล่นหนังใหญ่นั้นเป็นการแสดงที่รวมศิลปะที่ทรงคุณค่าหลายแขนง ทั้ง หัตถศิลป์ นาฏศิลป์ วรรณศิลป์ วาทศิลป์ และคีตศิลป์ ตัวหนังใหญ่สลักจากหนังโค ใช้สี แดง เขียว ดำ จากสมุนไพรธรรมชาติ หนังใหญ่แต่ละตัวจะมีขนาดแตกต่างกัน สูง 1-2 เมตร หนักตั้งแต่ 3-7 กิโลกรัม การเล่นมีการใช้ท่าทางประกอบกับการเชิดหนัง อาทิ ท่าย่างสามขุม ขึ้นเดี่ยว โก่งศร แผลงศร ฯ และยังมีการใช้ดนตรีปี่พากย์ ผสานกับถ้อยคำเจรจาในการแสดง การเล่นหนังใหญ่นั้น ต้องเล่นอยู่หน้าจอผ้าขาว ด้านหลังจะก่อกองไฟให้แสงอยู่ด้านหลัง ตรงข้ามกับหนังตะลุง แสงไฟจะขับให้สีที่อยู่ในหนังใหญ่นั้นออกมาสวยงาม ส่วนที่การจัดแสดงที่วัดขนอนทุกวันเสาร์อาทิตย์นั้นจะใช้แสงสปอตไลท์ยิงจากด้านหลังแทนกองไฟเพื่อความสะดวก นักท่องเที่ยวจะมีโอกาสได้เห็นทั้งหมดจากการแสดงซึ่งได้รับความร่วมมือจากอาสาสมัคร นักเรียน ฯ โดยเริ่มต้นจากพิธีไหว้ครู การให้ความรู้เกี่ยวกับหนังใหญ่ และการแสดงซึ่งจะเป็นตอนหนึ่งจากเรื่องรามเกียรติ์เป็นหลัก การแสดงทั้งหมดใช้เวลาไม่เกินหนึ่งชั่วโมง |
วันเสาร์ 10:00 -11:00 วันอาทิตย์ 11:00 – 12:00 |
|||||
|
ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการชม แต่สามารถหยอดเงินบริจาคที่ตู้เงินตรงทางออกได้ (สำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเป็นหมู่คณะในวันธรรมดาควรติดต่อล่วงหน้า โดยจะมีค่าใช้จ่ายรอบละราว 2,500 บาท) |
พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอนในส่วนของพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน เป็นเรือนไทยใช้จัดแสดงหนังใหญ่ชุดเก่าในสภาพสมบูรณ์จำนวน 313 ตัว หนังใหญ่แต่ละตัวนั้นส่วนใหญ่ใช้จัดแสดงเรื่องรามเกียรติ์ในตอนต่างๆ แบ่งเป็นชุดหนุมานถวายแหวน ชุดสหัสสกุมาร และเผากรุงลงกา และชุดศึกอินทรชิตครั้งที่ 1 นอกจากนั้นยังมีประวัติความเป็นมาของหนังใหญ่และกรรมวิธีการแกะสลักตัวหนังใหญ่ เครื่องมือและอุปกรณ์โบราณที่ใช้ในการแกะสลักตัวหนัง การเยี่ยมชมไม่ควรแตะต้องตัวหนังใหญ่เพื่อรักษาของโบราณไว้ให้คงอยู่สืบไป |
07:30 – 17:30 | |||||
|
พิพิธภัณฑ์หลวงปู่กล่อม ชมวัตถุโบราณจากด่านขนอนเดิมพิพิธภัณฑ์หลวงปู่กล่อม ตั้งอยู่ข้างๆพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน ตั้งชื่อตามท่านพระครูศรัทธาสุนทร (หลวงปู่กล่อม) อดีตเจ้าอาวาสวัดขนอนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นที่เก็บสะสมวัตถุโบราณส่วนที่เหลือจากการส่งเข้าท้องพระคลังในสมัยก่อน โดยในสมัยก่อนนั้นที่บริเวณวัดนั้นเป็นด่านเก็บจังกอบ หรือก็คือส่วยอากรที่เรียกเก็บบริเวณปากทางเข้าเมือง สถานที่เก็บจังกอบเรียกว่า “ขนอน” ซึ่งก็เป็นที่มาของชื่อวัดขนอน วัตถุโบราณที่เก็บอยู่ในพิพิธภัณฑ์หลวงปู่กล่อมนี้เป็นส่วนที่นายด่านขนอนได้มอบเอาไว้ให้เป็นสมบัติของวัดหลังจากที่ได้มีการเลิกด่านขนอนในสมัยรัชกาลที่ 5 ของส่วนใหญ่ที่อยู่ภายในพิพิธภัณฑ์หลวงปู่กล่อมจะเป็นเครื่องถ้วยชามเบญจรงค์และลายคราม นอกจากนั้นยังมีสุดข่อย ภาพพระบฏ เสาหงส์ และพระพุทธรูป |
นมัสการหลวงพ่อในโบสถ์ พระพุทธศิลาศักยมุณีอุโบสถของวัดขนอนตั้งอยู่บริเวณรั้วทางเข้า จะมีป้ายบอกหลวงพ่อในโบสถ์อยู่ ด้านในประดิษฐานพระพุทธศิลาศักยมุณี ด้านหลังมีพระพุทธรูปหันหลังให้แก่กัน |
การเดินทางโดยทางรถยนต์ส่วนตัว / จากกรุงเทพฯ วิ่งเส้นเพชรเกษม มาทางนครปฐม สู่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี จากนั้นเลี้ยวขวาที่สี่แยกอำเภอบางแพ ไปตามทางหลวงหมายเลข 3090 เข้าสู่อำเภอโพธาราม ข้ามสะพานแม่น้ำแม่กลอง แล้วเลี้ยวขวาไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 3089 ประมาณ 3 กิโลเมตร วัดขนอนอยู่ทางขวามือ |
การเดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะ / รถโดยสารประจำทาง มีรถออกจากสถานีขนส่งสายใต้ สายกรุงเทพฯ-โพธาราม มาลงที่ท่ารถโพธาราม แล้วจากท่ารถนั่งรถสองแถวสายบ้านโป่ง-โพธารามมาลงที่หน้าวัดขนอน หรือใช้รถจักรยานยนต์รับจ้าง ใช้เวลาประมาณ 5 นาที |
การติดต่อ
ที่อยู่ : | วัดขนอน บ้านสร้อยฟ้า อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี 70120 | ||
การติดต่อ : | 032 233386 | ||
Official Website : | www.nangyaiwatkhanon.com | ||
ข้อมูลอ้างอิง
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : | ป้ายข้อมูลภายในสถานที่ , การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย , เวบไซท์หนังใหญ่วัดขนอน , ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย | ||
ภาพถ่ายโดย : | Mahapunt Photography | ||
เรียบเรียงโดย : | www.zthailand.com |
เนื้อหาและข้อความในบทความนี้ถูกเรียบเรียงขึ้นมาใหม่ ซึ่งได้มาจากข้อมูลที่ได้สำรวจจากสถานที่จริง และ/หรือ จากแหล่งข้อมูลอ้างอิงต่างๆ ด้วยเนื้อหาและข้อความถูกเรียบเรียงขึ้นมาใหม่ ข้อมูลบางส่วนจึงอาจมีการคลาดเคลื่อนหรือไม่ได้อัพเดตให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน หากท่านต้องการแจ้งข้อมูลที่ถูกต้องกว่าสามารถส่งข้อมูลพร้อมระบุสถานที่และลิงค์มาได้ที่ contact@zthailand.com เพื่อให้ทีมงานได้ตรวจสอบและแก้ไขให้ถูกต้องยิ่งขึ้น หากท่านใดต้องการนำข้อมูลไปอ้างถึงบนเวบไซท์หรือสื่ออื่น กรุณาระบุที่มาและลิงค์กลับมาที่เวบไซท์ www.zthailand.com ในขณะที่ภาพถ่ายทั้งหมดยังถือเป็น ลิขสิทธิ์ของผู้ถ่ายภาพ โดยผู้ถ่ายภาพอนุญาตให้ใช้เฉพาะภายในเวบไซท์ www.zthailand.com เท่านั้น ห้ามมิให้ละเมิด ทำซ้ำ หรือดัดแปลงใดๆทั้งสิ้น