วัดเก่าแก่แห่งอาณาจักรล้านนา วิหารสวยสง่ารอบคูเมืองเชียงใหม่

 

แหล่งท่องเที่ยวเชียงใหม่ : วัดโลกโมฬี

วัดโลกโมฬีเป็นที่สะดุดตาสำหรับคนที่ขับรถผ่านไปผ่านมาเมื่อขับรถผ่านถนนรอบคูเมืองเชียงใหม่ด้านเหนือ โดยเฉพาะความงดงามของตัววิหารที่สวยสง่าแบบศิลปะแบบล้านนา ภายในยังมีเจดีย์วัดโลกโมฬีที่เป็นโบราณสถานเก่าแก่ของวัด ตามหลักฐานปรากฏอยู่ในตำนานวัดพระธาตุดอยสุเทพฯอยู่นั้น ระบุว่า เมื่อปี พ.ศ. 1910 ในช่วงสมัยพระเจ้ากือนาธรรมิกราช กษัตริย์ล้านนารัชกาลที่ 6 แห่งราชวงศ์เม็งราย เป็นกษัตริย์ที่มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก ได้อัญเชิญพระมหาเถระจากเมืองเมาะตะมะมาพักจำพรรษาที่วัด สะท้อนว่าในอดีตวัดโลกโมฬีนั้นจะต้องเป็นวัดที่เหมาะสมใหญ่โตในยุคนั้น วัดโลกโมฬีมีประวัติมายาวนานสามารถแบ่งได้ออกเป็นหลายยุคหลายสมัย รวมถึงช่วงที่เป็นวัดร้างหลายครั้ง ก่อนที่คณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่ได้ทำการฟื้นฟูจากการเป็นวัดร้างให้เป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ ในปี พ.ศ. 2544

ปัจจุบันวัดโลกโมฬีเป็นศูนย์กลางการศึกษาศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน และมีการจัดกิจกรรมขึ้นในเทศกาลต่างๆ อาทิ การสืบสานประเพณีปี๋ใหม่เมือง ในช่วงสงกรานต์ ประเพณียี่เป็งและตั้งธรรมหลวง ในช่วงประเพณียี่เป็ง กิจกรรมบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน กิจกรรมวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอย่างวันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษาและออกพรรษา ฯ เป็นต้น

 

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อภาษาอังกฤษ : Wat Lokmolee (Lokmolee Temple)
วันเปิดให้บริการ :
ช่วงเวลาสำหรับถ่ายภาพ :
วิหารวัดโลกโมฬีจะหันหน้าไปทางทิศใต้ มุมที่เหมาะสมที่สุดคือในช่วงเวลาบ่ายที่สามารถถ่ายมุมทางด้านตะวันตกของพระวิหาร
อำเภอ : เมืองเชียงใหม่  (Muang Chiang Mai)
จังหวัด : เชียงใหม่ (Chiang Mai)
แผนที่ : พิกัด 18.796019,98.98272

 

 

วิหารและพระประธานวัดโลกโมฬี

วิหารวัดโลกโมฬีตั้งอยู่ด้านหน้าเจดีย์โลกโมฬี เป็นวิหารหลังใหม่แทนวิหารหลังเดิม ภายหลังได้มีการบูรณะและยกฐานะจากวัดร้างเป็นวัดที่มีพระภิกษุอยู่จำพรรษา เป็นวิหารศิลปะแบบล้านนา ลักษณะงดงาม ประณีต มีลายแกะสลักอย่างสวยงาม ภายในวิหารมี “พระพุทธสันติจิรบรมโลกนาถ”   เป็นพระประธานลักษณะปางสมาธิ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้บนพระเมาลี มีเพดานและต้นเสาแกะสลักลวดลายต่างๆ อย่างงดงาม

 

วัดโลกโมฬี เชียงใหม่

 

เจดีย์วัดโลกโมฬีหลังวิหาร

ภายในวัดโลกโมฬีมีเจดีย์วัดโลกโมฬีตั้งอยู่ด้านหลังพระวิหาร สร้างขึ้นในภายหลังจากที่ได้ก่อสร้างวัดโลกโมฬี คือในช่วงสมัยพระเมืองเกศเกล้า ในปี พ.ศ. 2071 เป็นเจดีย์ทรงปราสาท แต่มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพัฒนารูปแบบได้เพิ่มความสูงของเจดีย์ ตามหลักฐานที่ได้พบในส่วนชุดฐานปัทม์

 

ศาสนสถานอื่นๆภายในวัดโลกโมฬี

ซุ้มประตูวัดโลกโมฬี อยู่ตรงด้านหน้าของวิหาร ติดกับถนน มีลวดลายปูนปั้นงดงาม ศิลปะแบบซุ้มประตูล้านนา

มณฑปพระนางจิรประภามหาเทวี ภายในประดิษฐานพระรูปของพระนางจิระประภา มหาเทวี ซึ่งพระองค์ได้ทรงอุปถัมภ์วัดโลกโมฬีครั้งเสวยราชย์ครองเมืองเชียงใหม่ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ สักการะรำลึกถึงคุณความดีของพระองค์

กุฏิสมเด็จ เป็นกุฏิที่ทางวัดสร้างขึ้น เพื่อเป็นที่รองรับพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ ที่เดินทางมาประกอบศาสนกิจที่เชียงใหม่ โดยมีพระเทพวรสิทธาจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพฯ เป็นผู้อุปถัมภ์การก่อสร้าง

 

 

 

การเดินทางโดยทางรถยนต์ส่วนตัว /  วัดโลกโมฬีตั้งอยู่บนถนนรอบคูเมืองเชียงใหม่ทางทิศเหนือฝั่งด้านนอก มาตามถนนมณีนพรัตน์ สังเกตปั๊มน้ำมัน ปตท. วัดโลกโมฬีตั้งอยู่ข้างๆวัดก่อนถึงปั๊ม มีซอยมณีนพรัพน์ซอย 2 ขั้นกลาง

การเดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะ  / เดินทางโดยการใช้รถโดยสารเชียงใหม่ (รถแดง) บอกว่าลงที่วัดโลกโมฬี

 

 

การติดต่อ

ที่อยู่ : วัดโลกโมฬี เลขที่ 298/1 ถ.มณีนพรัตน์ ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
การติดต่อ : 053 404039 , 053 212387
Official Website : www.watlokmolee.com

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : เวบไซท์วัดโลกโมฬี
ภาพถ่ายโดย : Mahapunt Photography
เรียบเรียงโดย : www.zthailand.com

 

 


เนื้อหาและข้อความในบทความนี้ถูกเรียบเรียงขึ้นมาใหม่ ซึ่งได้มาจากข้อมูลที่ได้สำรวจจากสถานที่จริง และ/หรือ จากแหล่งข้อมูลอ้างอิงต่างๆ ด้วยเนื้อหาและข้อความถูกเรียบเรียงขึ้นมาใหม่ ข้อมูลบางส่วนจึงอาจมีการคลาดเคลื่อนหรือไม่ได้อัพเดตให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน หากท่านต้องการแจ้งข้อมูลที่ถูกต้องกว่าสามารถส่งข้อมูลพร้อมระบุสถานที่และลิงค์มาได้ที่ contact@zthailand.com เพื่อให้ทีมงานได้ตรวจสอบและแก้ไขให้ถูกต้องยิ่งขึ้น หากท่านใดต้องการนำข้อมูลไปอ้างถึงบนเวบไซท์หรือสื่ออื่น กรุณาระบุที่มาและลิงค์กลับมาที่เวบไซท์  www.zthailand.com  ในขณะที่ภาพถ่ายทั้งหมดยังถือเป็น ลิขสิทธิ์ของผู้ถ่ายภาพ โดยผู้ถ่ายภาพอนุญาตให้ใช้เฉพาะภายในเวบไซท์ www.zthailand.com เท่านั้น ห้ามมิให้ละเมิด ทำซ้ำ หรือดัดแปลงใดๆทั้งสิ้น