กราบบูชาเทพเจ้านาจาและทวยเทพตามคติจีน อลังการสถาปัตยกรรมจีนอันยิ่งใหญ่ใกล้ทะเล

 

แหล่งท่องเที่ยวชลบุรี : ศาลเจ้านาจา (ศาลเจ้านาจาซาไท้จื้อ) 

ศาลเจ้านาจา หรือ ศาลเจ้าหน่าจาซาไท้จื้อ หรือ วิหารเทพสถิตพระกิติเฉลิม ซึ่งประทานนามโดยสมเด็จพระสังฆราชอันมีความหมายว่า เป็นที่สถิตของเทพเจ้าทั้งหลาย มีความงดงามในรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบจีน บริเวณศาลยังมีสระบัว อาคารปฏิบัติธรรม และเสาฟ้าดิน  มีประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้ามากราบไหว้บูชาอยู่เนืองแน่นทุกวัน เนื่องจากศาลนาจาอยู่ใกล้กับบางแสนและอ่างศิลา เดิมศาลนาจาแห่งนี้เป็นเพียงศาลเจ้าเล็กๆ กราบบูชาเทพเจ้านาจา หนึ่งในเทพเจ้าของจีนที่ชาวจีนรวมทั้งชาวไทยเชื้อสายจีนให้การเคารพนับถือ ต่อมามูลนิธิธรรมรัศมีมณีรัตน์ ได้สร้างขึ้นใหม่เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสที่ทรงพระชนมพรรษาครบ 72 พรรษา

ภายในอาคารหลักของศาลนาจาแบ่งออกเป็น 4 ชั้น ได้แก่

วิหารชั้น 1
เป็นที่ประดิษฐานของพระกษิติครรภโพธิสัตว์ซึ่งทรงปณิธานคล้ายคลึงกับพระแม่ กวนอิมแต่ผิดไปจากพระแม่กวนอิม คือ พระองค์จะต้องโปรดเวยไนยสัตว์ที่อยู่ในนรกให้หมดฉะนั้นในงานศพจึงบูชาท่านก็เลยการเป็นพิธีไปส่วนพิธีมงคลนิยมบูชาพระแม่กวนอิม กระทั่งเกิดคำว่า “ตี๋จั๋งโปรดคนตาย พระแม่กวนอิมโปรดคนเป็น”

วิหารชั้น 2
เป็นที่ประดิษฐานขององค์เทพเจ้าหน่าจาซาไท้จื้อ ปางที่จำลองมาจากมณฑลเสฉวนจากประเทศจีน เป็นศาลเจ้าแรกขององค์เทพเจ้าหน่าจาซาไท้จื้อ ซึ่งท่านแม่ขององค์เทพเจ้าหน่าจาเป็นผู้สร้างให้ นอกจากนั้นยังมีรูปเหมือนองค์เทพเจ้าหน่าจาซาไท้จื้อปางประสูติปางปราบมารนั่งบัลลัง รูปแกะสลักมหาโพธิสัตว์กวนอิมหยกขาวหรือ(พระอวโลกิเตศวร ) จากประเทศพม่า องค์เต๋าเล่าหง่วงกุง( พระมารดาแห่งดวงดาว ) องค์กิ้วอ้วงฮุกโจ้วองค์หนึ่งออเนี่ยเนี้ยองค์เทียงโหงวเซี้ยบ้อ องค์อุ่ยท้อผ่อสัก และ องค์เทพเจ้ากวนอู ประดิษฐานอยู่

วิหารชั้น 3
เป็นที่ประดิษฐานขององค์เง็กเซียนฮ่องเต้ พระแม่ธรณีองค์ฮั่วท้อเซียนซือองค์ไท้อิกกิวโค่วกิ่วหลั่งเทียงจุง องค์ไท้เสียงเหล่ากุง องค์ไท้แป๊ะกิมแซ พระอวโลกิเตศวร

วิหารชั้น 4
เป็นชั้นที่สูงสุดเป็นที่ประดิษฐานรูปปั้นองค์ประธานหรือองค์พระศรีศากยมุนีพระพุทธเจ้า องค์พุทธเจ้าอีก 5 พระองค์ องค์สมเด็จพระอนุตรธรรมมารดาองค์ท่านเป็นผู้ให้กำเนิดแก่จักรวาลทั้งปวง เป็นผู้ให้กำเนิดสรรพชีวิตทั้งหลายในโลกนี้ พระศรีศากยมุนีพระพุทธเจ้า พระสมันตภัทรโพธิสัตว์พ ระมันชุศรีโพธิสัตว์ สมเด็จพุทธมารดาแดนสระทิพย์ และองค์กวงกึงเล่าโจ้ สมเด็จพระพุทธมารดาแห่งดวงดาว รวมถึงเป็นที่ประดิษฐานซำป้อ หรือซาเสี่ยฮุก (องค์พระอมิตาพระพุทธเจ้า องค์พระมหาโพธิสัตว์กวนอิม และพระสถาปราบโพธิสัตว์) ซึ่งเป็นองค์เทพเจ้าที่ชาวจีนให้ความเคารพนับถือกันเป็นจำนวนมาก

 

ศาลเจ้านาจา ชลบุรี

 

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อเรียกอื่นๆ : ศาลเจ้าหน่าจาซาไท้จื้อ , วิหารเทพสถิตพระกิติเฉลิม , ศาลนาจา , วัดนาจา
ชื่อภาษาอังกฤษ : Wihan Thep Sathit Phra Kitti Chaloem , Nacha Sa Thai Chue Shrine
วันเปิดให้บริการ :
เวลาเปิด-ปิด :
  • จันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00-17.00 น.
  • เสาร์ 08.00-18.00 น.
  • อาทิตย์ 08.00-20.00 น.
ค่าเข้าชม : ไม่เสียค่าเข้าชม
ช่วงเวลาสำหรับถ่ายภาพ :
ศาาลเจ้านาจาอนุญาตให้ถ่ายเฉพาะด้านนอกเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ถ่ายภายในตัวอาคาร
 
อำเภอ : อำเภอเมืองชลบุรี (Mueang Chon Buri)
จังหวัด : ชลบุรี (Chonburi)
แผนที่ : พิกัด 13.328413, 100.922743

 

 

 

ประวัติศาลเจ้านาจา

ศาลเจ้านาจาแห่งนี้เริ่มสร้างเมื่อราวเดือนมีนาคม พ.ศ. 2534 บนเนื้อที่ประมาณ 200 ตารางวา โดยท่านอาจารย์สมชาย พุทธนพเป็นผู้ริเริ่มสร้างศาลเจ้าแห่งนี้ เดิมทีเป็นเพียงแค่ศาลเจ้าเล็ก ๆ ไม่ใหญ่โตมาก บรรดาลูกศิษย์และผู้ที่ให้ความเคารพนับถือมาสักการบูชาเป็นจำนวนมาก ด้วยบารมีแห่งองค์เทพเจ้าหน่าจาซาไท้จื้อทำให้ผู้ที่มากราบไหว้ มีความร่มเย็นเป็นสุข มีชีวิตที่มีแต่ความเจริญรุ่งเรืองในธุรกิจการค้ามากมาย

จนมาเมื่อปี พ.ศ. 2539 ท่านอาจารย์สมชาย พุทธนพ ท่านได้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ โดยจะสร้างศาลเจ้าหลังใหญ่ขึ้นเพื่อ “ เฉลิมพระเกียรติครบรอบ 72 พรรษา ขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ” ในการเริ่มก่อสร้างศาลนั้นเริ่มสร้างในปีพ.ศ. 2538 แต่เริ่มต้นมีเงินทุนในการสร้างศาลเจ้านาจาอยู่เพียง 3 ล้านกว่าบาทเท่านั้น ซึ่งก็ได้ลูกศิษย์พ่อค้าประชาชนที่ให้ความเคารพได้ร่วมบริจาคเงินสร้างศาลเจ้ามา ในที่สุดศาลเจ้านาจาก็แล้วเสร็จ ใช้ระยะเวลารวมการก่อสร้างกว่า 4 ปี และใช้งบประมาณการก่อสร้างทั้งสิ้นกว่า 300 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2541 สมเด็จพระสังฆราช ฯ ได้เสด็จมาเป็นประธานพิธีเททองหล่อพระพุทธ 7 พระองค์ และทรงประทานพระบรมสารีริกธาตุสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 9 พระองค์ ให้แก่อาจารย์สมชาย พุทธนพ เพื่อทำพิธีบรรจุ และได้รับเกียรติจาก ฯ พณ ฯ ท่าน ม.ร.ว. อดุลกิติ์ กิติยากร เป็นประธานในพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สมเด็จพระสังฆราช ฯ ได้พระราชทานนามวิหารแห่งนี้ว่า “ วิหารเทพสถิตพระกิติเฉลิม” ซึ่งมีนัยความหมายว่าเป็นที่สถิตของทวยเทพเจ้าทั้งหลาย

 

 

ประวัติศาลเจ้านาจา

องค์เทพเจ้าหน่าจาซาไท้จื้อ เป็นตำนานที่เล่าขานกันมาแต่ครั้งบุราณกาล สมัยปลายราชวงศ์เซียงต้นราชวงศ์จิว หน่าจาซาไท้จื้อ เป็นบุตรคนที่ 3 ของแม่ทัพหลี่เจ๋ง  กล่าวกันว่ามารดาตั้งครรภ์หน่าจาเป็นเวลา 3 ปี 6 เดือน จึงคลอด  หลังจากท้องแล้ว หน่าจาแทนที่จะเป็นเด็กทารกดั่งเช่นเด็กทั่วไป กลับเป็นก้อนเนื้อทรงกลม ๆ ที่ห่อหุ้มไว้ด้วยเนื้อเยื่อและรกพันเต็มไปหมด ยังความตกใจและประหลาดใจแก่แม่ทัพหลีเจ๋งและนางฮิง ผู้เป็นบิดามารดา ด้วยความประหลาดดังกล่าว หลี่เจ๋งซึ่งเป็นบิดาจึงใช้กระบี่ฟันก้อนเนื้อ ปรากฎว่าภายในก้อนเนื้อนั้น เป็นเด็กทารกเพศชาย ซึ่งในมือขวาถือห่วงทองคำและรอบตัวพันด้วยผ้าแพรสีแดง  ในขณะนั้นมีนักพรตท่านหนึ่งมีนามว่า  ไท้อิกจิงยิ้ง  ซึ่งบำเพ็ญศีลภาวนาอยู่ ณ ยอดเขาเคี่ยงง่วนซัว กิมกวงตัง มาร่วมแสดงความยินดีด้วย และเมื่อได้เห็นบุคลิกลักษณะของเด็กน้อย เกิดความชื่นชมในความเฉลียวฉลาด พร้อมกับได้ชี้แจงให้แม่ทัพหลี่เจ๋งและนางฮิงทราบว่า ห่วงทองและผ้าแดงที่ติดตัวมานั้นเป็นของศักดิ์สิทธิ์ เป็นผู้มีบุญญาบารมีสูงอีกทั้งได้รับตัวเด็กน้อยไว้เป็นศิษย์และตั้งชื่อให้ว่า “หน่าจา” เพื่อถ่ายทอดวิชา

รูปลักษณ์ขององค์เทพนาจา จะปรากฏให้ห็นเป็นรูปของเด็กผู้ชายเหยียบวงล้อไฟ มือถือหอกและห่วงเป็นอาวุธ มีอิทธิฤทธิ์เหาะเหินเดินอากาศได้ปราบมารปีศาจได้ ต่อมาภายหลังเง็กเซียนฮ่องเต้ทรงแต่งตั้งให้เป็น “จงตั๋นหง่วนโส่ย” หรือ “จงตั๋นเหยียนฟู่” (中壇元帥) แม่ทัพแห่งสวรรค์ ทำหน้าที่ปกป้องประตูสวรรค์ เช่นเดียวกับ เอ้อหลางเสิน หรือ เทพสามตา

 

 

ศาลเจ้านาจา ชลบุรี

ศาลเจ้านาจา ชลบุรี

ศาลเจ้านาจา ชลบุรี

ศาลเจ้านาจา ชลบุรี

การเดินทางโดยทางรถยนต์ส่วนตัว / จากถนนสุขุมวิท ก่อนถึงทางเข้าบางแสน จะมีแยกไปตำบลเสม็ดเส้น 3134 วิ่งตรงมาจนสุดหัวโค้งจะถูกบังคับให้เลี้ยวซ้าย เมื่อเลี้ยวซ้ายตรงมาสักพักศาลเจ้านาจาจะอยู่ทางขวามือ มีที่จอดรถอยู่ข้างศาล

 

 

การติดต่อ

ที่อยู่ : วิหารเทพสถิตพระกิติเฉลิม (ศาลเจ้าหน่าจาซาไท้จื้อ)  1/13 หมู่ 5 ตำบลอางศิลา อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี 20000
การติดต่อ : 038 398399
Official Website : www.najathai.net

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : ป้ายข้อมูลภายในสถานที่ , www.saensukcity.com , มูลนิธิธรรมรัศมีมณีรัตน์ , wikipedia
ภาพถ่ายโดย : Mahapunt Photography
เรียบเรียงโดย : www.zthailand.com

 

เนื้อหาและข้อความในบทความนี้ถูกเรียบเรียงขึ้นมาใหม่ ซึ่งได้มาจากข้อมูลที่ได้สำรวจจากสถานที่จริง และ/หรือ จากแหล่งข้อมูลอ้างอิงต่างๆ ด้วยเนื้อหาและข้อความถูกเรียบเรียงขึ้นมาใหม่ ข้อมูลบางส่วนจึงอาจมีการคลาดเคลื่อนหรือไม่ได้อัพเดตให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน หากท่านต้องการแจ้งข้อมูลที่ถูกต้องกว่าสามารถส่งข้อมูลพร้อมระบุสถานที่และลิงค์มาได้ที่ contact@zthailand.com เพื่อให้ทีมงานได้ตรวจสอบและแก้ไขให้ถูกต้องยิ่งขึ้น หากท่านใดต้องการนำข้อมูลไปอ้างถึงบนเวบไซท์หรือสื่ออื่น กรุณาระบุที่มาและลิงค์กลับมาที่เวบไซท์  www.zthailand.com  ในขณะที่ภาพถ่ายทั้งหมดยังถือเป็น ลิขสิทธิ์ของผู้ถ่ายภาพ โดยผู้ถ่ายภาพอนุญาตให้ใช้เฉพาะภายในเวบไซท์ www.zthailand.com เท่านั้น ห้ามมิให้ละเมิด ทำซ้ำ หรือดัดแปลงใดๆทั้งสิ้น