ตลาดโบราณร้อยปีริมทะเล ชุมชนและสถานตากอากาศขึ้นชื่อตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3

 

แหล่งท่องเที่ยวชลบุรี : ตลาดเก่าอ่างศิลา และตึกแดง-ตึกขาว ชลบุรี

ตลาดเก่าอ่างศิลามีอายุเกินกว่าร้อยปีแล้ว โดยสมัยก่อนตั้งแต่ช่วงรัชกาลที่ 3 ก็มีชาวกรุงหรือชาวตะวันตกเดินทางมาพักตากอากาศกันมาก ที่มีชื่อว่า “อ่างศิลา” นั้นเพราะว่าพื้นที่นี้เป็นแหล่งที่มีบ่อหินคนในสมัยก่อนสามารถเก็บน้ำไว้ใช้กินใช้ทานได้ ปัจจุบันได้พัฒนาชุมชนเก่าแก่แห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยนักท่องเที่ยวสามารถเดินชมวิถีชีวิตชาวประมง พร้อมๆกับแวะซื้อของกิน ของฝาก สินค้าอาหารทะเลทั้งสดและแปรรูป รวมถึงของขึ้นชื่ออย่างครกหิน นอกจากนั้นที่นี่ยังมี ตึกแดง ซึ่งถือได้ว่าเป็นสถานที่ตามอากาศที่แรกของประเทศไทย และ ตึกขาวให้เดินเยี่ยมชมและถ่ายรูปกัน

 

ตลาดเก่าอ่างศิลา ชลบุรี

 

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อเรียกอื่นๆ : ตลาดเก่าอ่างศิลา 133 ปี
ชื่อภาษาอังกฤษ : Ang Sila Old Market
อำเภอ : อำเภอเมืองชลบุรี (Mueang Chon Buri)
จังหวัด : ชลบุรี (Chonburi)
แผนที่ : พิกัด 13.340654,100.927077

 

 

เดินเล่นตลาดร้อยปีของอ่างศิลา หาของกิน ชมครกขึ้นชื่อของไทย

ตลาดเก่าอ่างศิลาเป็นหมู่บ้านประมงริมทะเล เดิมเป็นถนนเพียงสายเดียวต่อมาจึงมีการสร้างถนนสายลงทะเลขึ้นอีกสายหนึ่ง มีอาคารบ้านเรือนในตลาดเก่าอยู่ราว 180 หลัง ปัจจุบันได้มีการฟื้นฟูตลาดเก่าให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเป็นทางเดินยาวราว 700 เมตร นักท่องเที่ยวมักเดินมาหาซื้อของฝากของกิน เมื่อเดินเข้ามาจากทางเข้าฝั่งติดทะเลเมื่อได้เดินไปตามถนนจะพบกับของกินมากมายให้เลือกซื้อหากันอยู่ริมทาง อาทิ หอยจ๊อ ผัดไท ขนมเรไร ขนมไทยชนิดต่างๆ ขนมโล่เทง ห่อหมก อาหารทะเลต่างๆ  แมงกระพรุนลวก ฯ นอกจากนั้นนักท่องเที่ยวยังสามารถหาซื้ออาหารทะเลแปรรูปต่างๆได้อีกด้วย เมื่อเดินเข้ามาก็จะพบกับบ้านเรือนที่ยังคงความโบราณไม่เปลี่ยนแปลง และสามารถแวะเคารพศาลเจ้าปุนเฒ่ากง และศาลเจ้าปุนเฒ่าม่า

เนื่องด้วยหินแถวนี้เป็นหินอัคนีประเภทหินแกรนิตและหินทรายอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเกิดอาชีพการทำครกหินซึ่งเป็นของที่ขึ้นชื่อของอ่างศิลาทุกคนรู้จักกันดีในนาม “ครกหินอ่างศิลา” แม้ในปัจจุบันหินที่นำมาทำครกเริ่มหมดไปและเริ่มนำหินจากที่อื่นมาทำครกมากขึ้น แต่ก็ยังสามารถหาของแท้ได้อยู่บ้าง โดยต้องหาครกที่ทำจากหินแกรนิตที่มีสีขาวนวล สีเทาอ่อน หรือ สีชมพูอมเหลือง ที่ชาวบ้านเรียกว่า เนื้อหินมันปู ลักษณะพิเศษของครกหินอ่างศิลาแท้ มีเกล็ดเงินเป็นประกาย เนื้อหินเนียนเรียบ เมื่อลูบเนื้อหินต้องไม่สะดุดมือ ตำแล้วต้องไม่เป็นทราย ไม่มีผงฝุ่นบนพื้นผิวและที่ก้นครก

นอกจากครกแล้วที่อ่างศิลายังขึ้นชื่อเรื่องผ้าทออ่างศิลา โดยเชื่อกันว่าในสมัยก่อน ในช่วงที่ว่างจากการประมงหญิงสาวชาวอ่างศิลาซึ่งได้เรียนรู้การทอผ้าจากมิชชันนารีอเมริกันจึงทอผ้าไว้ใช้ การทอผ้าแบบโบราณของชาวอ่างศิลา มีลวดลายที่ขึ้นชื่อ อาทิ ลายตาสมุก ลายดอกราชวัตร ลายตาสก๊อต ลายตาหมากรุก เป็นต้น

 

ตลาดเก่าอ่างศิลา ชลบุรี

ตลาดเก่าอ่างศิลา ชลบุรี

ตลาดเก่าอ่างศิลา ชลบุรี

ตลาดเก่าอ่างศิลา ชลบุรี

ตลาดเก่าอ่างศิลา ชลบุรี

 

 

09:00 – 17:00

 

 

เดินเล่นรับลมทะเล เยี่ยมชมตึกแดง (พระตำหนักราชินี) ที่พักตากอากาศแห่งแรกของประเทศไทย

ตึกแดง หรือ “ตึกราชินี” เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น ตั้งอยู่ริมทะเลปากทางเข้าตลาดเก่าอ่างศิลา ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา ตึกแดงนับว่าเป็นที่พักตากอากาศแห่งแรกของประเทศไทย สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 บูรณะปฏิสังขรณ์โดยเสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ในสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในระหว่างที่ทรงสำเร็จราชการแทนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเสด็จประพาสยุโรป

ตึกแดงมีส่วนที่เป็นระเบียงติดกับพื้นดินรองรับส่วนหน้าของอาคารที่สัมพันธ์กับพื้นที่ดินที่เอียงลาด หลังคาทรงปั้นหยายกจั่ว ส่วนหน้าของอาคารหันหน้าออกทะเล มีมุขยื่นออกมาทั้งชั้นล่างและชั้นบน ชั้นล่างบริเวณมุขเป็นผนังทึบ มีประตูรูปซุ้มโค้งตามกรอบ ส่วนบนเป็นกระจก ส่วนล่างเป็นบานลูกฟักไม้ หน้าต่างบานคู่ ส่วนบนเป็นกระจกช่องแสง ลูกกรงและระเบียงเป็นปูนปั้นลูกมะหวด

 

ตลาดเก่าอ่างศิลา และตึกแดง-ตึกขาว ชลบุรี

ตลาดเก่าอ่างศิลา และตึกแดง-ตึกขาว ชลบุรี

 

เสาร์ และอาทิตย์ เวลา 09:00 – 16:30 น. / จันทร์ – ศุกร์ เวลา 08:30 – 16:30 น. (ติดต่อสำนักงานเทศบาลตำบลอ่างศิลา)
 

เวลาที่แสงเข้าที่ด้านหน้าของอาคาร

 

 

 

 

ชมตึกขาว (พระตำหนักมหาราช) คู่ตึกแดง

พระตำหนักมหาราช หรือตึกขาว เป็นตึกที่คู่กับตึกราชินีหรือตึกแดง โดยเรียกตึกทั้งสองหลังว่า “อาไศรย์สถาน” กรมศิลปากร ได้ประกาศให้ “ตึกมหาราช” และ “ตึกราชินี” ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ปัจจุบันถูกปรับเปลี่ยนเป็นพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา จัดแสดงวัตถุโบราณ อาทิ ครกหินอ่างศิลา เครื่องทอผ้า และถ้วยชามสังคโลก รูปแบบทางสถาปัตยกรรมของทั้งสองตึก เป็นแบบอย่างที่เรียกว่า “อิทธิพลทางตะวันตกแบบเมืองขึ้น” เนื่องจากระยะเวลานั้นอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมแบบจีนยังมีอยู่มาก ทั้งเมื่อรับรูปแบบในลักษณะอิทธิพลตะวันตกแบบเมืองขึ้นเข้ามา จึงมีการผสมผสานทางสถาปัตยกรรมระหว่างไทยกับจีน

“ตึกมหาราช” เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น หลังคาทรงปั้นหยา เอียงลาดมาด้านหน้าเป็นจั่วมุงกระเบื้อง ไม่มีชายคายื่นจากผนังโดยรอบ ไม่มีกันสาดกันแดดฝนให้แก่หน้าต่าง ใช้ซุ้มโค้งครึ่งวงกลม ตรงชั้นล่างหน้ามุข มีบันไดทางขึ้นแยกเป็น 2 ทางขึ้นสู่ตรงกลางอาคาร

 

 

ตลาดเก่าอ่างศิลา และตึกแดง-ตึกขาว ชลบุรี

ตลาดเก่าอ่างศิลา และตึกแดง-ตึกขาว ชลบุรี

 

 

เสาร์ และอาทิตย์ เวลา 09:00 – 16:30 น. / จันทร์ – ศุกร์ เวลา 08:30 – 16:30 น. (ติดต่อสำนักงานเทศบาลตำบลอ่างศิลา)
 

เวลาที่แสงเข้าที่ด้านหน้าของอาคาร

 

 

ชมบ่อหินสูง ต้นกำเนิดของคำว่าอ่างศิลา

อยู่ข้างๆตึกแดง เป็ยบ่อน้ำจืดธรรมชาติซึ่งประชาชนช่วอ่างศิลาใช้ในการอุปโภคบริโภคมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่เรียกว่าบ่อหินสูงเพราะว่าเป็นบ่อที่ตั้งอยู่บนโขดหินสูงขึ้นมาจากพื้นดิน เป็นต้นกำเนิดของคำว่าอ่างศิลา โดยใน พ.ศ. 2419 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้่าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสจังหวัดชลบุรี มีลายพระราชหัตถเลขาพรรณนาตอนหนึ่งว่า “…เรียกชื่ออ่างศิลานั้น เพราะมีแผ่นดินสูงเป็นลูกเนิน มีศิลาก้อนใหญ่ๆเป็นศิลาดาดและเป็นสระยาวรีอยู่ 2 แห่ง…..” เมื่อเห็นว่าสามารถเป็นที่ขังน้ำฝน น้ำฝนไม่รั่วซึมไปได้จึงก่อเสริมปากบ่อกั้นน้ำ ชาวบ้านก็สามารถน้ำฝนในอ่างศิลามาใช้ บางปีฝนแล้งน้ำในสองบ่อไม่พอใช้ ก็ยังมีบ่อน้ำที่ราษฎรขุดไปขังน้ำฝนไว้ใช้ได้ จึงได้เรียกว่า “บ้านอ่างศิลา” มาจนทุกวันนี้

ใกล้ๆกันยังมีรอยพระพุทธบาทที่เนินหินอ่อนมีลักษณะรอยเท้าใหญ่ ชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้า บ้างก็ว่าเป็นรอยเท้าของพรานบุญ

ตลาดเก่าอ่างศิลา และตึกแดง-ตึกขาว ชลบุรี

ตลาดเก่าอ่างศิลา และตึกแดง-ตึกขาว ชลบุรี

 

ไหว้ศาลเจ้าแม่หินเขา “พระนางเรือล่ม” ศาลเจ้าที่ยื่นออกไปริมทะเล

ศาลเจ้าแม่หินเขาเป็นศาลเก่าแก่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นศาลเจ้าที่สร้างยื่นออกไปในทะเล ชาวบ้านเรียกติดปากว่า เจ้าแม่หินเขา มีคำบอกเล่ากันมาว่า เจ้าแม่หินเขานี้ เป็นดวงวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระปิยมเหสี ในรัชกาลที่ 5 หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “พระนางเรือล่ม” มีความเชื่อกันว่า เจ้าแม่หินเขาทรงแผ่บารมีแก่ชาวเรือทั้งหลายให้คลาดแคล้วจากภัยทางน้ำให้ปลอดจากเหตุน่าสลดใจที่เกิดขึ้นกับพระองค์เอง

 

ตลาดเก่าอ่างศิลา และตึกแดง-ตึกขาว ชลบุรี

ตลาดเก่าอ่างศิลา ชลบุรี

 

 

 

การเดินทางโดยทางรถยนต์ส่วนตัว / จากถนนสุขุมวิท ก่อนถึงทางเข้าบางแสน จะมีแยกไปตำบลเสม็ดเส้น 3134 วิ่งตรงมาจนสุดหัวโค้งจะถูกบังคับให้เลี้ยวซ้าย ที่หัวโค้งคือทางเข้าตลาดโบราณอ่างศิลา ต้องไปหาที่กลับรถข้างหน้าแล้วย้อนมาอีกที (ไม่แนะนำให้เลี้ยวขวาทันทีเพราะเป็นหัวโค้งที่รถวิ่งมาได้เร็วอันตรายมาก) หลังจากเข้ามาจะมีที่จอดรถอยู่ทางขวามือ

 

 

การติดต่อ

การติดต่อ : คณะกรรมการตลาดเก่า อ่างศิลา 133 ปี  โทร. 038 398497

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม, หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ , ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ภาพถ่ายโดย : Mahapunt Photography
เรียบเรียงโดย : www.zthailand.com

 

 


เนื้อหาและข้อความในบทความนี้ถูกเรียบเรียงขึ้นมาใหม่ ซึ่งได้มาจากข้อมูลที่ได้สำรวจจากสถานที่จริง และ/หรือ จากแหล่งข้อมูลอ้างอิงต่างๆ ด้วยเนื้อหาและข้อความถูกเรียบเรียงขึ้นมาใหม่ ข้อมูลบางส่วนจึงอาจมีการคลาดเคลื่อนหรือไม่ได้อัพเดตให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน หากท่านต้องการแจ้งข้อมูลที่ถูกต้องกว่าสามารถส่งข้อมูลพร้อมระบุสถานที่และลิงค์มาได้ที่ contact@zthailand.com เพื่อให้ทีมงานได้ตรวจสอบและแก้ไขให้ถูกต้องยิ่งขึ้น หากท่านใดต้องการนำข้อมูลไปอ้างถึงบนเวบไซท์หรือสื่ออื่น กรุณาระบุที่มาและลิงค์กลับมาที่เวบไซท์  www.zthailand.com  ในขณะที่ภาพถ่ายทั้งหมดยังถือเป็น ลิขสิทธิ์ของผู้ถ่ายภาพ โดยผู้ถ่ายภาพอนุญาตให้ใช้เฉพาะภายในเวบไซท์ www.zthailand.com เท่านั้น ห้ามมิให้ละเมิด ทำซ้ำ หรือดัดแปลงใดๆทั้งสิ้น