ท่องไปในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย ที่เที่ยวคุณภาพสำหรับคนรักหนังทุกคน

 

แหล่งท่องเที่ยวนครปฐม : หอภาพยนตร์ (พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย) 

หอภาพยนตร์ (พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย) เป็นองค์การมหาชน ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทย เพื่อรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ โดยมองคุณค่าของภาพยนตร์เสมือนเป็นเอกสารสำคัญ ทำนองเดียวกับเอกสารประวัติศาสตร์ หรือเอกสารจดหมายเหตุของชาติ และในอดีตนั้นภาพยนตร์ไทยมีความเฟื่องฟูเป็นอย่างมาก ถึงขนาดผลิตภาพยนตร์ออกมามากถึง 100 เรื่องต่อปี แต่ปัจจุบันได้สูญหายไปโดยไม่มีเจ้าภาพเก็บดูแลรักษาไว้  “หอภาพยนตร์ (FILMARCHIVE)” จึงได้ถูกจัดตั้งขึ้นมา โดยเป็นหนึ่งในบรรดาหอภาพยนตร์ 151 แห่งใน 77 ประเทศทั่วโลกที่เป็นสมาชิกของ สมาพันธ์หอภาพยนตร์ระหว่างชาติ (Federation Internationale des Archives du Film) (FIAF) เพื่อคอยเก็บรักษาและดูแลภาพยนตร์ของทั้งประเทศ ทำหน้าที่รวบรวมจัดเก็บเพื่อรักษา ไว้ให้เป็นมรดกของชาติ แต่เดิมนั้นหอภาพยนตร์เคยอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพ ก่อนที่จะย้ายมาอยู่ที่ศาลายาในปัจจุบัน

หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)  นอกจากจะมีหน้าที่จัดเก็บรักษาภาพยนตร์ไทยที่ทรงคุณค่าในอดีตแล้ว ยังทำหน้าที่ให้บริการให้แก่สาธารณชนในการเข้าชมและร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่หอภาพยนตร์จัดขึ้น อาทิ การจัดฉายภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ของหอภาพยนตร์ การแสดงนิทรรศการ การบรรยาย การอบรม รวมทั้งการเข้าชม พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทยของหอภาพยนตร์ ซึ่ง พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย แม้จะไม่ค่อยมีคนรู้จักกันในวงกว้าง แต่ถือได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่น่าชมและมีคุณภาพเป็นอย่างยิ่ง

สิ่งที่น่าสนใจของ หอภาพยนตร์ (พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย)  เริ่มจากตัวอาคารของสีเหลืองสดใสที่จำลองมาจากโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุงในอดีต ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมภาพยนตร์สำคัญของประเทศ โรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุงเป็นอาคารโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงมาตรฐานแห่งแรกของประเทศ มีความสวยงามทางสถาปัตยกรรม ออกแบบโดย โปรเฟสเซอร์ อี มันเฟรดี สถาปนิกชาวอิตาลี ตั้งอยู่ที่เดิมคือทุ่งบางกะปิ หรือปัจจุบันคือบริเวณปากซอยอโศก ถนนสุขุมวิท บริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีสุขุมวิท โรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุงนี้เป็นศูนย์กลางผลิตและพัฒนาภาพยนตร์ของชาติในอดีตถึงกระทั่งมีฉายาว่า ฮอลลีวู้ดแห่งสยาม ก่อนที่จะหยุดกิจการไปเพราะเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี พ.ศ. 2485 และการเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ภายหลังสงครามโลกได้เปลี่ยนเป็นโรงฉายภาพยนตร์ “ศาลาศรีกรุง” ก่อนที่จะเลิกกิจการและถูกรื้อถอนไปอีกครั้ง

เพื่อรำลึกถึงศูนย์กลางทางภาพยนตร์แห่งนี้ทางหอภาพยนตร์ (พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย)จึงยึดเอาสถาปัตยกรรมดั้งเดิมมาจัดสร้างให้อนุชนรุ่นหลังได้ดูอีกครั้งแต่เล็กลงกว่าเดิมสี่เท่า ภายในจัดแสดงสิ่งของที่เกี่ยวกับภาพยนตร์ไทย โดยได้รับบริจาคจากประชาชนทั่วไปจากการจัดทองผ่าป่าสามัคคีเพื่อพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย สถาบัน และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ไทยในอดีต ได้เข้ามาศึกษาหาความรู้ในตัวพิพิธภัณฑ์ซึ่งจัดแสดงสิ่งของที่หาดูได้ยาก ได้ลองชมภาพยนตร์ไทยในสมัยก่อน แต่จุดเด่นที่สุดคือการจำลองการจัดแสดงที่เกี่ยวกับภาพยนตร์ไทยในอดีต อาทิ ฉากของภาพยนตร์เรื่องโรงแรมนรก ห้องทำงานของ  ส. อาสนจินดา และจำลองโรงหนัง “อลังการ” ในอดีต

ส่วนด้านนอกตัวอาคารของ หอภาพยนตร์ (พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย) มีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย ได้แก่ รูปหล่อจำลอง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ หรือ พระบิดาแห่งภาพยนต์สยาม ตั้งอยู่ด้านหน้าหอภาพยนตร์ สถานี “ศินิมา” หัวรถจักรโบราณจำลองความเกี่ยวข้องภาพยนตร์ไทยกับการรถไฟในอดีต จำลอง  “แบล็คมารีอา” โรงถ่ายภาพยนตร์โรงแรกของโลก ประติมากรรมชุด “เพลงหวานใจ” แสดงเบื้องหลังการถ่ายทำภาพยนตร์เพลงซูเปอร์ของโรงถ่ายภาพนตร์เสียงศรีกรุง เรื่อง “เพลงหวานใจ” พ.ศ. 2480 และ โรงภาพยนตร์ศรีศาลายา ที่เปิดหนังไทยเก่า หนังหายาก และหนังทรงคุณค่าให้บุคคลทั่วไปมาชมฟรีๆโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

 

 

หอภาพยนตร์ (พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย) นครปฐม

 

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อเรียกอื่นๆ : หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
ชื่อภาษาอังกฤษ : Thai Film Museum
อำเภอ : พุทธมณฑล (Phutthamonthon)
จังหวัด : นครปฐม (Nakhon Pathom)
แผนที่ : พิกัด 13.798819,100.303153

 

 

เต็มอิ่มเดินชมนิทรรศการ ย้อนรอยภาพยนตร์ไทย

เริ่มจากการรู้จักการตีเสลด คำอธิบายที่ปรากฏในแต่ละช่อง ชมเสลดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ชมข้าวของเครื่องใช้ที่เกิดจากการทำภาพยนตร์หลายๆเรื่อง ผู้นำชมจะอธิบายรายละเอียดรวมถึงตั้งคำถามให้เราได้ลองตอบเล่นเกี่ยวกับภาพยนตร์ตั้งแต่เก่าจนถึงใหม่ จากนั้นจะเป็นการขึ้นไปด้านบนเป็นประวัติภาพยนตร์แบ่งออกเป็นช่วงๆตามทศวรรจำนวน 6 ทศวรรษ ตั้งแต่ยุคถือกำเนิดบริษัทภาพยนตร์ไทยจำกัดจนถึงยุคภายใต้การปกครองของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ชมภาพยนตร์ของรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จประพาสต่างแดน ต่อด้วยหนังภาพยนตร์เหตุการณ์บ้านเมืองที่หาชมได้ยาก ชมภาพยนตร์ที่ ร.5 ทรงเป็นคนไทยที่แรกที่ได้ชม ซึ่งเป็นภาพยนตร์ของเอดิสันชื่อ Cockfight ชมข้าวของเครื่องใช้ในแต่ละยุค ก่อนที่จะพาลงไปด้านล่าง ซึ่งจำลองฉากบาร์เหล้าปี พ.ศ. 2500 เรื่อง “โรงแรมนรก” ภาพยนตร์ที่ถ่ายทำด้วยฟิล์ม 35 ม.ม รวมถึงรูปปั้นของคุณ รัตน์ เปสตันยี ซึ่งเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลจากการประกวดภาพยนตร์ระดับนานาชาติ จากภาพยนตร์เรื่อง “แตง” และเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทหนุมานภาพยนตร์

นอกจากนั้นด้านล่างยังมีการจำลองห้องทำงานของ ส. อาสนจินดา ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ผู้บุกเบิกวงการละครเวที ละครโทรทัศน์ และภาพยนตร์ไทย และ วิจิตร คุณาวุฒิ  ศิลปินแห่งชาติและผู้กำกับภาพยนตร์ไทยที่ได้รับฉายาว่า “เศรษฐีตุ๊กตาทอง” ห้องจำลองการทำอนิเมชันชื่อดังของไทยในสมัยก่อนอย่าง “สุดสาคร” ห้องจำลองการสร้างฟิลม์ ทำโพสโปรดักชั่น เรียนรู้ที่มาของคำว่า “หนังขึ้นหิ้ง” และช่วงสุดท้ายจะเป็นการจำลองโรงหนัง “อลังการ” โรงหนังในสมัยก่อน จำลองการตีตั๋วและเปิดฉายหนังโดยใช้วิธีฉายแบบหมุนมือให้ได้ลองชม ซึ่งจะใช้เวลาชมจุดนี้ประมาณ 20 นาที เปิดฉายหนังบางส่วนของเรื่อง “โรงแรมนรก” ต่อด้วยเรื่อง “สวรรค์มืด” ซึ่งเป็นภาพยนตร์เพลง

การเยี่ยมชมภายในส่วนนิทรรศการของหอภาพยนตร์นี้ใช้เวลาประมาณสองชั่วโมงครึ่ง เต็มอิ่มไปด้วยสาระความรู้ ความรู้สึกถวิลหา เมื่อได้ลองย้อนรอยอดีตภาพยนตร์ไทย

 

 

วันเปิดให้บริการ :
เวลาเปิด-ปิด : วันเสาร์ – อาทิตย์ และ วันหยุดนักขัตฤกษ์ วันละ 3 รอบ  เวลา 10:00 น. 13:00 น. และ 15:00 น. (มีวิทยากรนำชมทุกรอบ)
ค่าเข้าชม : ไม่เสียค่าเข้าชม
หมายเหตุ : ใช้เวลาเข้าชมรอบละประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง

 

หอภาพยนตร์ (พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย) นครปฐม

หอภาพยนตร์ (พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย) นครปฐม

หอภาพยนตร์ (พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย) นครปฐม

หอภาพยนตร์ (พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย) นครปฐม

หอภาพยนตร์ (พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย) นครปฐม

หอภาพยนตร์ (พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย) นครปฐม

หอภาพยนตร์ (พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย) นครปฐม

หอภาพยนตร์ (พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย) นครปฐม

 

สถานีศินิมา และรถไฟสายภาพยนตร์

ภายในหอภาพยนตร์มี หัวจักรไอน้ำ โมกุล ซี 56 หมายเลข 738 ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวรถไฟที่ผลิตจากญี่ปุ่นเพื่อนำมาใช้ในสมัยสงตรามโลกในไทย ต่อมาเมื่อสงครามสิ้นสุดรัฐบาลไทยได้ซื้อหัวรถจักรเหล่านี้เพื่อใช้ในกิจการรถไฟ เมื่อถึงเวลาปลดประจำการ จึงได้บริจาคให้แก่หน่วยงานต่างๆ ต่อมาหอภาพยนตร์ได้รับมอบหัวรถจักรไอน้ำนี้มาจากศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา เพื่อนำมาอนุรักษ์จัดแสดงในโครงการรถไฟสายภาพยนตร์ เพื่อรำลึกถึงเมื่อในอดีตคราวที่รถไฟและประวัติศาสตร์ภาพยนตร์มีความเกี่ยวเนื่องกัน เนื่องจากในอดีต ในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งยังเป็นกรมรถไฟหลวงได้จัดตั้ง “กองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว” ขึ้นในกิจการของรถไฟ ทำหน้าที่เป็นศูนย์ผลิตหนังแห่งชาติ และนำหนังใส่รถไฟไปฉายให้ราษฏรในหัวบ้านเมืองดู ก่อนที่จะมีโทรทัศน์เกิดขึ้น

ภายในรถไฟประกอบด้วยตู้โดยสารชั้นหนึ่งที่หอภาพยนตร์สร้างจำลองขึ้น เพื่อพาผู้โดยสารจากต้นทางที่ “สถานีศินิมา” ผ่านประวัติศาตร์ภาพยนตร์ไทยกับรถไฟไทย กับหนังหลายเรื่องที่เกี่ยวกับรถไฟ ชมการจำลองตู้เสบียง ตู้นอน  ไปสู่จุดหมายที่ “เมืองมายา”

 

หอภาพยนตร์ (พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย) นครปฐม

หอภาพยนตร์ (พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย) นครปฐม

 

โรงภาพยนตร์ศรีศาลายา

ตั้งอยู่ภายในหอภาพยนตร์ เป็นโรงภาพยนตร์ที่เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมได้ฟรี โดยเลือกฉายหนังที่มีคุณค่าหาดูได้ยาก หนังเก่าของไทย ฯ โดยเปิดฉายวันละหนึ่งเรื่อง สามารถติดตามดูโปรแกรมฉายได้ที่เวบไซท์ http://www.fapot.org นอกจากนั้นในปัจจุบันทางหอภาพยนตร์ได้ร่วมมือกับ หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพฯ จัดแสดงฉายภาพยนตร์ให้บุคคลทั่วไปได้ชมได้อย่างสะดวกมากขึ้น

ด้านหน้าของโรงภาพยนตร์ศรีศาลายาเป็นลานดารา ลอกแบบมาจาก Chinese Theatres ฮอลลีวูด โดยเชิญมาประทับรอยมือรอยเท้า สลักชื่อ และวันที่  เพื่อยกย่องให้เกียรติแก่ดาราภาพยนตร์ไทย

 

วันเปิดให้บริการ :
เวลาเปิด-ปิด :
  • วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 17:30 
  • วันเสาร์ – อาทิตย์ เวลา 13:00 และ 15:00 
  • วันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 13:00
ค่าเข้าชม : ไม่เสียค่าเข้าชม

 

หอภาพยนตร์ (พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย) นครปฐม

 

ชม “แบล็คมารีอา” โรงถ่ายภาพยนตร์โรงแรกของโลก

แบบจำลองโรงถ่ายภาพยนตร์โรงแรกของโลกหรือ แบล็คมารีอา (Black Maria) ที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2436 โดยโทมัส อัลวา เอดิสัน นักวิทยาศาสตร์ที่เรารู้จักกันดี แบล็คมารีอา ตั้งอยู่ในบริเวณโรงงานทดลองวิทยาศาสตร์ของเอดิสัน รัฐนิวเจอร์ซี ของจริงมีลักษณะโครงสร้างทำด้วยไม้ สีดำทั้งหลัง มีแกนหมุนที่หมุนได้รอบตัวเพื่อติดตามการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ มีหลังคาเปิดปิดได้เพื่อนำไปใช้ในการถ่ายภาพยนตร์ในยุคนั้น

หอภาพยนต์ได้จำลองแบล็คมารีอามาให้ได้ชม ควบคู่กับรูปหล่อจำลอง จอร์จ อีสต์แมน ผู้นำการผลิตฟิลม์ภาพยนตร์ และ โทมัส อัลวา เอดิสัน หนึ่งในผู้ให้กำเนิดภาพยนตร์ อยู่ด้านหน้า โดยจำลองจากเหตุการณ์งานแนะนำฟิลม์สีโกดาคัลเลอร์ในสวนที่คฤหาสน์ของอีสต์แมนที่เมืองโรเชสเตอร์

 

หอภาพยนตร์ (พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย) นครปฐม

 

ห้องสมุดและโสตทัษนาสถาน เชิด ทรงศรี

เป็นแหล่งค้นคว้าเฉพาะด้านภาพยนตร์ ที่รวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับภาพยนตร์ที่ได้รับการตีพิมพ์ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ วารสาร นิตยสาร บทความ วิทยานิพนธ์
เอกสารข้อมูลทางวิชาการ โปสเตอร์ สิ่งพิมพ์ ฯลฯ ของทั้งไทยและต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังสามารถเรียกดูภาพเคลื่อนไหวทั้งที่เป็นภาพยนตร์ข่าว สารคดี และ
ภาพยนตร์ไทยเรื่องต่างๆ ที่หอภาพยนตร์ได้รวบรวมไว้นับพันรายการ

 

วันเปิดให้บริการ :
เวลาเปิด-ปิด :
  • 09:00 – 17:00

 

 

การเดินทางโดยทางรถยนต์ส่วนตัว /  จากกรุงเทพฯ มาตามถนนบรมราชนนี เมื่อถึงพุทธมณฑลสาย 4 ให้ขึ้นสะพานไปทางขวาผ่านมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ตรงไปจนเกือบสุดให้เลี้ยวซ้าย จะเข้าถนนสาย 4006 ขนานกับถนนบรมราชชนี ตรงไปอีก 2.5 กิโลเมตร จะมีแยกเลี้ยวซ้ายเข้าพุทธมณฑลสาย 5 ตรงไปสักพักจะเห็นทางเข้าหอภาพยนตร์อยู่ทางขวามือ

 

 

การติดต่อ

ที่อยู่ : 94 หมู่ 3 ถนนพุทธมณฑล สาย 5 พุทธมณฑล นครปฐม 73170
การติดต่อ : 02 482 2013-14 ต่อ 111
Official Website : www.fapot.org
Social  Media : Facebook

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : เวบไซท์หอภาพยนตร์ , ป้ายข้อมูลภายในสถานที่ , wikipedia
ภาพถ่ายโดย : Mahapunt Photography
เรียบเรียงโดย : www.zthailand.com

 

เนื้อหาและข้อความในบทความนี้ถูกเรียบเรียงขึ้นมาใหม่ ซึ่งได้มาจากข้อมูลที่ได้สำรวจจากสถานที่จริง และ/หรือ จากแหล่งข้อมูลอ้างอิงต่างๆ ด้วยเนื้อหาและข้อความถูกเรียบเรียงขึ้นมาใหม่ ข้อมูลบางส่วนจึงอาจมีการคลาดเคลื่อนหรือไม่ได้อัพเดตให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน หากท่านต้องการแจ้งข้อมูลที่ถูกต้องกว่าสามารถส่งข้อมูลพร้อมระบุสถานที่และลิงค์มาได้ที่ contact@zthailand.com เพื่อให้ทีมงานได้ตรวจสอบและแก้ไขให้ถูกต้องยิ่งขึ้น หากท่านใดต้องการนำข้อมูลไปอ้างถึงบนเวบไซท์หรือสื่ออื่น กรุณาระบุที่มาและลิงค์กลับมาที่เวบไซท์  www.zthailand.com  ในขณะที่ภาพถ่ายทั้งหมดยังถือเป็น ลิขสิทธิ์ของผู้ถ่ายภาพ โดยผู้ถ่ายภาพอนุญาตให้ใช้เฉพาะภายในเวบไซท์ www.zthailand.com เท่านั้น ห้ามมิให้ละเมิด ทำซ้ำ หรือดัดแปลงใดๆทั้งสิ้น