พระพุทธรูปทองคำใหญ่ที่สุดในโลก Golden Buddha มูลค่านับพันล้าน มรดกจากสุโขทัย

 

แหล่งท่องเที่ยวกรุงเทพฯ : วัดไตรมิตรวิทยาราม

วัดไตรมิตรวิทยาราม หรือ เรียกกันสั้นๆว่าวัดไตรมิตรนั้น เป็นวัดโบราณเดิมมีชื่อว่า “วัดสามจีนใต้” เป็นวัดที่อยู่ใกล้ชุมชนเยาวราชและสำเพ็ง ซึ่งเป็นย่านของคนจีนมาตั้งแต่อดีต ต่อมาได้มีการปรับปรุงพื้นที่วัดและมีการเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดไตรมิตรวิทยาราม” สิ่งสำคัญของวัดไตรมิตร คือ “พระพุทธมหาสุวรรณปฎิมากร” หรือ “หลวงพ่อทองคำ” พระพุทธรูปทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีการบันทึกสถิติลงกินเนสส์บุ๊ค และเป็นพระพุทธรูปที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวในชื่อว่า Golden Buddha

เดิมพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร (หลวงพ่อทองคำ) ประดิษฐานในวิหารหลังเดิม ภายหลังวิหารที่ของวัดไตรมิตรได้ทรุดโทรมลง ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราช สมบัติครบ 60 ปี และทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา จึงได้จัดให้มีโครงการจัดสร้าง “พระมหามณฑปเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา” ซึ่งมีความศักดิ์สิทธิ์และสง่างาม มั่นคง ถาวร และมีความร่วมสมัย เป็นโครงหลัก 4 ชั้น ชั้นบนสุดประดิษฐาน พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร (หลวงพ่อทองคำ) ส่วนชั้น 2 และ 3 เป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชน อันได้แก่ ศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช และห้องนิทรรศการหลวงพ่อทองคำ การเยี่ยมชมวัดไตรมิตรมีข้อควรปฏิบัติ คือ แต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย ควรสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว หากสวมกระโปรงไม่ควรสวมกระโปรงสั้นเหนือเข่า และพึงสำรวมกิริยามารยาทเมื่อเข้าภายในวัด

 

วัดไตรมิตร (วัดไตรมิตรวิทยาราม) กรุงเทพฯ

 

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อภาษาอังกฤษ : Temple of Golden Buddha , Wat Traimitr Withayaram
วันเปิดให้บริการ :
เวลาเปิด-ปิด : 08:00 – 17:00 เว้นวันจันทร์ปิด 21:00
ค่าเข้าชม : คนไทย : เข้าฟรี
Foreigner : 40 BHT
ช่วงเวลาสำหรับถ่ายภาพ :
 สำหรับการถ่ายภาพด้านหน้า พระมหามณฑปเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา วัดไตรมิตรฯ
 นอกจากนั้นในวันจันทร์จะมีการสวดตอนกลางคืน จะมีการเปิดไฟ สามารถถ่ายรูปยามค่ำได้อย่างสวยงาม
เขต : เขตสัมพันธวงศ์ (Samphanthawong)
จังหวัด : กรุงเทพฯ (Bangkok)
แผนที่ : พิกัด 13.737671,100.513604

 

 

พระพุทธมหาสุวรรณปฎิมากร  พระพุทธรูปทองคำแท้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

“พระพุทธมหาสุวรรณปฎิมากร” หรือ “หลวงพ่อทองคำ” หรือ “พระสุโขทัยไตรมิตร” เป็นพระพุทธรูปที่ถูกบันทึกไว้ในกินเนสบุ๊คออฟเรคคอร์ดว่าเป็นพระพุทธรูปทองคำแท้ทั้งองค์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีมูลค่าสูงกว่า 21 ล้านปอนด์ (ประเมิน ค.ศ. 1991) น้ำหนักรวม 5.5 ตัน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย คือ อยู่ในพระอิริยาบถนั่งสมาธิราบ พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางเหนือพระชานุ ปลายพระหัตถ์ชี้ลงพื้นธรณี

กล่าวกันว่าประวัติความเป็นมานั้น เดิมแผ่นดินสุโขทัยมีพระพุทธรูปทองประดิษฐานอยู่ที่วัดมหาธาตุสุโขทัย อย่างไรก็ดี ต่อมาพระพุทธรูปองค์นี้ได้ถูกพอกปูนลงรักปิดทองทั่วทั้งองค์ เพื่อเป็นการอำพรางอารักขาภัยจากการสงคราม และต่อมาก็ไม่ทราบว่าตกไปอยู่ในสถานที่ใดบ้าง ต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ 1 ทรงมีพระบรมราชโองการให้อัญเชิญพระพุทธรูปตามวัดร้างต่างๆ ที่สุโขทัยมาประดิษฐานไว้ที่วัดโพธิ์ รวมทั้งพระพุทธมหาสุวรรณปฎิมากรด้วย ต่อมาพระพุทธมหาสุวรรณปฎิมากรได้อัญเชิญมาประดิษฐานเป็นพระประธานวัดพระยาไกร หรือวัดโชตินาราม ในรัชสมัยรัชกาลที่ 3 เรื่อยมาจนวัดพระยาไกรได้ชำรุดทรุดโทรมและได้ถูดทำการรื้อถอนจนเหลือพระพุทธปูนปั้นขนาดใหญ่ทิ้งไว้

ต่อมา วัดสามจีนหรือวัดไตรมิตรฯ กำลังบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ จึงได้อัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้ที่ถูกทิ้งร้างมาไว้ที่วัด ขณะที่เคลื่อนย้ายพระพุทธรูป เกิดเหตุสายเครื่องกว้านรั้งน้ำหนักพระพุทธรูปไว้ไม่อยู่จึงขาดลง ทำให้พระพุทธรูปตกกระแทกพื้น ส่งผลให้ปูนที่หุ้มบริเวณพระอุระกระเทาะออก เผยให้เห็นเนื้อทองคำบริสุทธิ์ จึงได้อัญเชิญขึ้นไปประดิษฐานบนวิหาร แรกเริ่มเรียกว่าพระสุโขทัยไตรมิตร ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร” ขณะที่ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อทองคำ

การค้นพบพระพุทธรูปทองคำปางมารวิชัยของวัดไตรมิตรวิทยารามในครั้งกระนั้น ได้เป็นข่าวสำคัญอย่างอึกกะทึกครึกโครมไปทั่วทั้งประเทศ มีการตรวจสอบและประเมินเนื้อทองขององค์พระพุทธรูปซึ่งเป็นทองคำบริสุทธิ์ เรียกว่า “ทองเนื้อเจ็ด น้ำสองขา” ซึ่งเป็นทองที่มีค่าของเนื้อทองรองจากทองนพคุณหรือทองเนื้อเก้า มีมูลค่ามากมายมหาศาล และมีชื่อเสียงไปทั่วโลก ทุกวันๆจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเยี่ยมชมอย่างไม่ขาดสาย โดยพูดต่อๆกันในนามของ Golden Buddha ของเมืองไทย

 

08:00 – 17:00 เว้นวันจันทร์ปิด 21:00

 

วัดไตรมิตร (วัดไตรมิตรวิทยาราม) กรุงเทพฯ

วัดไตรมิตร (วัดไตรมิตรวิทยาราม) กรุงเทพฯ

วัดไตรมิตร (วัดไตรมิตรวิทยาราม) กรุงเทพฯ

 

ห้องนิทรรศการหลวงพ่อทองคำ “จากพุทธศิลป์สุโขทัย สู่พุทธสมัยปัจจุบัน”

นิทรรศการหลวงพ่อทองคำ “จากพุทธศิลป์สุโขทัย สู่พุทธสมัยปัจจุบัน”  ตั้งอยู่ที่ชั้นที่ 3 ของ  พระมหามณฑปเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา  บอกเล่าเรื่องราวที่เกี่ยวกับองค์พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร และการอัญเชิญมาประดิษฐานในพระมหามณฑป โดยเริ่มจากห้องแรกซึ่งเป็น Multimedia Theatre ที่จัดแสดงสื่อผสม แสง เสียง และภาพ Animation ประกอบกับโมเดลวัดมหาธาตุกลางเมืองสุโขทัย ส่วนห้องต่อๆไปจัดแสดงประวัติการสร้างพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร พุทธศิลป์ในสมัยสุโขทัย ข้อสันนิษฐานถึงสาเหตุที่มีการพอกปูนทับองค์พระ และประวัติการอัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดพระยาไกรสู่วัดไตรมิตร เป็นนิทรรศกาลที่โดดเด่นและน่าสนใจต่อผู้เข้าชมเป็นอย่างยิ่ง

 

 

08:00 – 17:00

 

วัดไตรมิตร (วัดไตรมิตรวิทยาราม) กรุงเทพฯ

วัดไตรมิตร (วัดไตรมิตรวิทยาราม) กรุงเทพฯ

 

ชมศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช ศึกษาตำนานเยาวราชและชุมชนค้าขายชาวจีน

ศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช  ตั้งอยู่ที่ชั้นที่ 3 ของพระมหามณฑปเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ลักษณะเป็นนิทรรศการที่มีความโดดเด่นในการนำเสนอ ด้วยรูปแบบที่ทันสมัย นำเสนอเรื่องราวที่เกี่ยวกับ “ความรุ่งเรืองบนถนนสายทองคำ”   เริ่มด้วยการจัดแสดงโดยวีดีทัศน์เพื่อทำความรู้จักเบื้องต้นกับชุมชนชาวจีนสำเพ็ง – เยาวราช อันเป็นย่านการค้าเก่าแก่ที่สำคัญของกรุงเทพฯ ในแต่ละช่วงของนิทรรศการจะแบ่งเป็นยุคสมัย เริ่มจากช่วงกำเนิดชุมชนจีนแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เหตุใดชาวจีนถึงเริ่มขึ้นเรือสำเภาจากเมืองจีนสู่ผืนแผ่นดินไทย ต่อจากนั้นจะเป็นช่วงเส้นทางสู่ยุคทอง จัดแสดงพัฒนาการของชุมชนจีนจากตลาดสำเพ็งสู่ความเป็นย่านธุรกิจสมัยใหม่ที่ถนนเยาวราช ด้วยแบบจำลองขนาดใหญ่  บริเวณรอบๆจัดแสดง Diorama 11 ฉากที่แสดงเรื่องราววิถีชีวิตในช่วงยุคทองนี้ ปิดท้ายด้วย Hall of Fame ตำนานชีวิตบุคคลชาวเยาวราชที่เป็นแบบอย่างและสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นหลัง พระบารมีปกเกล้า และเยาวราชในวันนี้ ซึ่งได้รับการขนานนามว่า “ไชน่าทาวน์” ของกรุงเทพฯ

 

 

08:00 – 17:00

 

วัดไตรมิตร (วัดไตรมิตรวิทยาราม) กรุงเทพฯ

วัดไตรมิตร (วัดไตรมิตรวิทยาราม) กรุงเทพฯ

วัดไตรมิตร (วัดไตรมิตรวิทยาราม) กรุงเทพฯ

 

 

 

 

การเดินทางโดยทางรถยนต์ส่วนตัว / จากถนนพระราม 4 มุ่งหน้ามาทางถนนเจริญกรุง เมื่อผ่านแยกหัวลำโพง  จะข้ามคลองผดุงกรุงเกษม ผ่านแยกไมตรีจิตต์ เลี้ยวซ้าย จะเห็นวัดไตรมิตรอยู่ทางขวามือ มีที่จอดรถ แต่ที่จอดมักหาค่อนข้างยาก 

การเดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะ  / เดินทางโดยรถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) ไปยังสถานีหัวลำโพง จากนั้นขึ้น รถประจำทางสาย 5, 73 หรือ 507 ไปลงยังวัดไตรมิตรวิทยาราม

 

 

การติดต่อ

ที่อยู่ : วัดไตรมิตรวิทยาราม เลขที่ 661 ถนนเจริญกรุง แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร 10100
การติดต่อ : 02 623 3329-30, 02 623 1227
Official Website : www.wattraimitr-withayaram.com

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : โบรชัวร์ , เวบไซท์วัดไตรมิตรฯ
ภาพถ่ายโดย : Mahapunt Photography
เรียบเรียงโดย : www.zthailand.com

 

 


เนื้อหาและข้อความในบทความนี้ถูกเรียบเรียงขึ้นมาใหม่ ซึ่งได้มาจากข้อมูลที่ได้สำรวจจากสถานที่จริง และ/หรือ จากแหล่งข้อมูลอ้างอิงต่างๆ ด้วยเนื้อหาและข้อความถูกเรียบเรียงขึ้นมาใหม่ ข้อมูลบางส่วนจึงอาจมีการคลาดเคลื่อนหรือไม่ได้อัพเดตให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน หากท่านต้องการแจ้งข้อมูลที่ถูกต้องกว่าสามารถส่งข้อมูลพร้อมระบุสถานที่และลิงค์มาได้ที่ contact@zthailand.com เพื่อให้ทีมงานได้ตรวจสอบและแก้ไขให้ถูกต้องยิ่งขึ้น หากท่านใดต้องการนำข้อมูลไปอ้างถึงบนเวบไซท์หรือสื่ออื่น กรุณาระบุที่มาและลิงค์กลับมาที่เวบไซท์  www.zthailand.com  ในขณะที่ภาพถ่ายทั้งหมดยังถือเป็น ลิขสิทธิ์ของผู้ถ่ายภาพ โดยผู้ถ่ายภาพอนุญาตให้ใช้เฉพาะภายในเวบไซท์ www.zthailand.com เท่านั้น ห้ามมิให้ละเมิด ทำซ้ำ หรือดัดแปลงใดๆทั้งสิ้น