เดินลอดอุโมงค์ใต้พระเจดีย์ สัมผัสศิลปะพุทธแบบลังกาวงศ์ในวัดที่ร่มรื่น
แหล่งท่องเที่ยวเชียงใหม่ : วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม)
วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) ตั้งอยู่เชิงดอยสุเทพ วัดอุโมงค์เป็นวัดที่สำคัญอีกแห่งของเชียงใหม่ เป็นวัดที่ร่มรื่นและมีขนาดกว้างขวาง ลักษณะการออกแบบเป็นไปตามแบบพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ เดิมสร้างขึ้นในสมัยพญามังรายบริเวณ ป่าไผ่ 11 กอ ต่อมาในสมัยพญากือนา โปรดให้สร้างอุโมงค์ขึ้นในบริเวณวัด ภายหลังจึงเรียกว่าวัดอุโมงค์เถรจันทร์ หรือ วัดอุโมงค์ในที่สุด ส่วนชื่อสวนพุทธธรรมนั้น เป็นชื่อเรียกที่ ภิกขุ ปัญญานันทะ ประธานวัดอุโมงค์ ในสมัยพ.ศ. 2492-2509 ตั้งขึ้นเพื่อเรียกสถานที่ป่าผืนใหญ่ที่ปกคลุมวัดร้างโบราณ ซึ่งมีทั้งหมดประมาณ 150 ไร่ รวมเอาวัดต่างๆที่อยู่บริเวณวัดอุโมงค์โดยรอบมาไว้ด้วยกัน
วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) มีจุดที่น่าสนในหลายจุด อาทิ อุโมงค์ใต้พระเจดีย์ 700 ปี ที่มีความแปลกแบบที่ไม่สามารถพบเห็นได้จากวัดทั่วไป โดยเป็นอุโมงค์ที่เชื่อมต่อกันถึง 4 อุโมงค์ ด้านนอกอุโมงค์มีลานเศียรพระพุทธรูปสกุลช่างพะเยาที่ให้ความรู้สึกขลังยามที่เดินชม นอกจากนั้นยังมีหอธรรมโฆษณ์ พิพิธภัณฑ์ เสาอโศกจำลอง ลานธรรม เกาะกลางน้ำทำบุญให้อาหารปลาฯ รายล้อมไปด้วยความร่มรื่นและสถานที่ปฏิบัติทางสงฆ์
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อเรียกอื่นๆ : | วัดอุโมงค์เถรจันทร์ (ชื่อเดิม) , วัดเวฬุกัฏฐาราม (ชื่อเดิม) , วัดไผ่ 11 กอ (ชื่อเดิม) | ||||||||||||||||||
ชื่อภาษาอังกฤษ : | Wat U-Mong (U-Mong Temple) | ||||||||||||||||||
วันเปิดให้บริการ : |
|
||||||||||||||||||
เวลาเปิด-ปิด : | ประตูวัดเปิด 04:00 – 21:00 | ||||||||||||||||||
อำเภอ : | เมืองเชียงใหม่ (Muang Chiang Mai) | ||||||||||||||||||
จังหวัด : | เชียงใหม่ (Chiang Mai) | ||||||||||||||||||
แผนที่ : | พิกัด 18.783579,98.953394 |
ประวัติวัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม)
ในสมัยพระเจ้ามังรายมหาราช ทรงทำนุบำรุงพระศาสนาาเป็นการส่วนพระองค์ พระองค์ได้ทรงทราบว่า พระเจ้ารามคำแหงมหาราช พระสหายผู้ครองนครสุโขทัย ได้ส่งคนไปนิมนต์พระสงฆ์จากเมืองลังกา จึงประสงค์จะได้พระลังกามาเป็นหลักพระพุทธศาสนาในเมืองเชียงใหม่บ้าง และได้สร้างวัดฝ่ายอรัญวาสีเฉพาะพระลังกา เพื่อเป็นอนุสรณ์ในการนำพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์มาประดิษฐานในลานนาไทยเป็นครั้งแรก โดยยึดเอาแบบอย่างการสร้างวัดของเมืองลังกาเป็นแบบฉบับ โดยแบ่งออกเป็นเขตพุทธาวาส และสังฆาวาส ทรงขนานนามว่า วัดเวฬุกัฏฐาราม (วัดไผ่ 11 กอ) ในที่สุดได้กลายเป็นวัดที่พระบรมวงศานุวงศ์และประชาชนศรัทธาเลื่อมใสเป็นอันมาก เป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์เจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว และตั้งหลักได้มั่นคงในลานนาไทยเป็นครั้งแรกในสมัยของพระองค์
ต่อมาเมื่อพระเจ้ามังรายสวรรคต ศาสนาพุทธขาดการทำนุบำรุง เพราะมัวแต่ทำศึกสงครามกันเองในเชื้อพระวงศ์ในการแย่งชิงราชสมบัติ จนมาถึงสมัยสมัยพระเจ้ากือนาธรรมาธิราช ศาสนาพุทธก็ได้รับการฟื้นฟู ทรงมีความเลื่อมใสในพระมหาเถระจันทร์ พระเจ้ากือนาจึงสั่งให้คนบูรณะวัดเวฬุกัฏฐาราม เพื่ออาราธนาพระมหาเถระจันทร์จำพรรษาทีวัดแห่งนี้ และตั้งชื่อวัดนี้ว่า “วัดอุโมงค์เถรจันทร์” ตามชื่อของพระมหาเถระจันทร์ มีการซ่อมแซมเจดีย์โดยการพอกปูน สร้างอุโมงค์ไว้ทางทิศเหนือจากเจดีย์ ในอุโมงค์มีทางเดิน 4 ช่องซึ่งเชื่อมต่อกันได้ ลัทธิลังกาวงศ์ซึ่งเคยเจริญรุ่งเรืองมาครั้งหนึ่งสมัยพระเจ้ามังรายมหาราช และได้เสื่อมทรามไปเกือบ 70 ปีนั้น ก็ได้กลับเจริญรุ่งเรืองขึ้นอีกในสมัยพระเจ้ากือนาธรรมิกราชนี้เอง
เดินชมอุโมงค์ใต้เจดีย์ ชมภาพจิตกรรมที่เลือนลางอุโมงค์ในวัดอุโมงค์ สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ากือนาธรรมิกราช เป็นส่วนหนึ่งของการบูรณะวัดอุโมงค์ สร้างขึ้นเพื่อถวายเพื่อให้พระมหาเถรจันทร์ ผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฏกอาศัย โดยได้สร้างอุโมงค์ขนาดใหญ่ ถัดจากฐานพระเจดีย์ด้านเหนือขึ้นหนึ่งอุโมงค์ อุโมงค์ที่ทรงสร้างขึ้นใหม่นี้ทั้งใหญ่และสวยงามมากมีทางเข้าออก 4 ช่อง แต่ละช่องเดินติดต่อกันได้ทั่วถึง ข้างฝาผนังด้านในอุโมงค์ก็เจาะช่องสำหรับจุดประทีปให้เกิดความสว่างเป็นระยะ เพื่อให้สะดวกแก่พระเดินในการจงกรมและภาวนาอยู่ข้างใน เพดานอุโมงค์เขียนภาพต่างๆ ด้วยสีน้ำมันไว้ตลอดทั้ง 2 ช่อง โดยเน้นที่สีเขียวและแดง ฝีมือที่เขียนดูจะเป็นช่างจีนผสมช่างไทย ปัจจุบันภายในอุโมงค์มีจิตรกรรมฝาผนังซึ่งอยู่ในสภาพที่ชำรุดลบเลือนมาก เดิมนั้นเกิดการสะสมของหินปูนที่เคลือบลายจิตรกรรมจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็นสาเหตุเพราะน้ำที่รั่วซึมลงมา เมื่อนำคราบหินปูนออกจึงปรากฏภาพจิตรกรรมที่สวยงาม อาทิ ภาพจิตรกรรมนกสลับดอกโบตั๋น ภาพจิตรกรรมดอกบัวสลับลายประจำยาม และภาพจิตรกรรมดอกบัวสลับลายเมฆ สามารถดูโครงการ “ย้อนรอยอดีตจิตรกรรมวัดอุโมงค์” ทีทำให้เห็นภาพจำลองจิตรกรรมสมัยหลายร้อยปีด้วยคอมพิวเตอร์ได้ที่ www.umongpainting.com จิตรกรรมฝาผนังวัดอุโมงค์ในส่วนที่เหลือหลักฐานให้ชมในปัจจุบันอยู่บริเวณเพดานโค้งภายในอุโมงค์ ตัวอุโมงค์ตั้งอยู่บริเวณต่อเนื่องกับเจดีย์ทางทิศเหนือ โดยหันทางเข้าหลักไปยังทิศตะวันออกจำนวน 3 อุโมงค์ในด้านหน้า ซึ่งอุโมงค์กลาง (อุโมงค์ที่ 4) มีขนาดใหญ่ที่สุด ซึ่งสามารถเห็นได้ เพียง 3 อุโมงค์เท่านั้น คือ อุโมงค์ที่ 1, 2, และ 3
|
พระเจดีย์ 700 ปีเจดีย์ในวัดอุโมงค์เป็นเจดีย์ทรงระฆังกลม มีบันไดนาคเป็นทางขึ้นลงอยู่ทางทิศใต้ ได้รับอิทธิพลจากศิลปะพม่าแบบพุกาม ได้มีการปรับเปลี่ยนแบบของเจดีย์ตามแต่ละยุคสมัย แรกเริ่มก่อสร้างเริ่มขึ้นในสมัยของพระเจ้ามังรายโดยมีโครงสร้างเป็นเจดีย์ทรงระฆัง ทรวดทรงแบบพระเจดีย์ในเมืองลังกา ต่อมาได้รับการบูรณะในสมัยของพระเมืองแก้ว มีการปั้นปูนประดับลวดลายที่ส่วนฐานใต้ทรงระฆัง มีการปรับเปลี่ยนที่ทรงกรวยซึ่งเป็นส่วนบนของเจดีย์ โดยประดับรูปกลีบบัวทรงยาวตามแบบอย่างของเจดีย์มอญพม่า
|
พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง ชมเศียรพระพุทธรูปสกุลช่างพะเยาบริเวณด้านข้างของทางเข้าอุโมงค์ เป็นลานกลางแจ้งที่มีเศียรพระพุทธรูปวางอยู่เรียงรายเป็นพื้นที่บริเวณกว้าง เป็นจุดที่น่าสนใจอีกแห่งสำหรับคนที่มาเที่ยวชมที่วัดอุโมงค์ โดยเฉพาะเศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่วางคู่กับเศียรพระพุทธรูปและหินแกะสลักอย่างระเกะระกะ เศียรพระพุทธรูปเหล่านี้สร้างขึ้นโดยช่างสกุลพะเยาประมาณปี พ.ศ. 1950 – พ.ศ. 2100 เจ้าชื่น สิโรรส และผู้ศรัทธาวัดอุโมงค์ได้ทยอยนำมาจากวัดร้างในพะเยาเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2511 – พ.ศ. 2513 |
เวลาที่แสงเข้าที่เศียรพระด้านหน้า |
เสาอโศกจำลองเสาอโศกที่อยู่ภายในวัดอุโมงค์เป็นเสาจำลองสร้างเมื่อ พ.ศ. 2507 เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึง พระเจ้าอโศกมหาราชผู้เป็นเอกอัครศาสนูปถัมภกและเป็นผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนาองค์แรกของโลก ซึ่งเสาอโศกเป็นเครื่องหมายอันสำคัญดังเช่นที่ค้นพบที่อินเดียและเนปาล เมื่อเสาอโศกตั้งอยู่ที่ใดหมายถึงสถานที่นั้นมีความสำคัญกับองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนา |
พิพิธภัณฑ์วัดอุโมงค์พิพิธภัณฑ์วัดอุโมงค์หรือ พิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติฯ ตั้งอยู่ข้างๆอุโมงค์และพระเจดีย์ เปิดให้ชม วันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 09:00 – 12:00 และ 13:00 -16:00 |
หอธรรมโฆษณ์เป็นอาคาร 2 ชั้น หลังคาทรงไทย เนื้อที่ชั้นล่างเป็นห้องสมุดบริการหนังสือธรรมในศาสนาพุทธ พื้นที่บนชั้นสองจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงศิลปวัตถุที่นำมาจัดแสดงเป็นของที่พบในบริเวณวัดอุโมงค์ นอกจากนั้นยังวัตถุที่เป็นของใช้ในวัด อาทิ กลุ่มพระพุทธรูปทำด้วยทองแดง ทองเหลือง เชี่ยนหมากสำริด ไม้แกะสลัก เครื่องปั้นดินเผาโบราณ เครื่องทอง เครื่องเงิน เครื่องเขิน อาวุธ เอกสารตัวเขียน ภาพถ่ายจิตรกรรมฝาผนังรูปนกในอุโมงค์ของวัดอุโมงค์ รูปเทพชุมนุมในกรุวัดอุโมงค์ เป็นต้น หอธรรมโฆษณ์เปิดทุกวันยกเว้นวันพระ เวลา 08.30-16.00 น. |
การเดินทางโดยทางรถยนต์ส่วนตัว / สามารถเข้าได้จากทางถนนสุเทพหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ฝั่งตรงข้าม สังเกตทางเข้าซอยจะมีป้ายเป็นจำนวนมากรวมถึงป้ายวัดอุโมงค์ เลี้ยวซ้าย ตรงเข้ามาตามทางประมาณ 1 ก.ม. จะเป็นสามแยก ตรงข้ามคือทางเข้าวัดอุโมงค์พอดีอีกทางหนึ่งสามารถเข้ามาได้ที่ถนนวงแหวนรอบนอก ก่อนถึงแยกตรงถนนสุเทพจะมีซอยเลี้ยวซ้ายทางเข้าเดียวกับสำนักงานเขตห้ามล่าสัตว์ป่าดอยสุ เทพ ตรงเข้ามาจะมีแยกเยื้องขวาและทางแยกซ้าย (จุดนี้ถนนแคบ) ตรงเข้ามาจะเห็นทางเข้าวัดอุโมงค์ทางขวามือ |
การติดต่อ
ที่อยู่ : | วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) เลขที่ 135 หมู่ 10 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200 | ||
การติดต่อ : | สำนักงานสวนพุทธธรรม (ศูนย์เผยแผ่ธรรม) 053 328054ศูนย์ปฏิบัติธรรม นานาชาติ (Meditation Center Wat Umong Suan Budhha Dhamma Chaingmai) พระมหาณรงค์ กนฺตสีโล (ผศ.ดร.) 085 107 6045 กุฏิเจ้าอาวาส 053 811100
|
||
Official Website : | www.watumong.org , www.umongpainting.com | ||
Social Media : | แทรก แทรก |
ข้อมูลอ้างอิง
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : | ป้ายภายในสถานที่ , เวบไซท์วัดอุโมงค์ , wikipedia , เวบไซท์สำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ , เวบไซท์เทศบาลตำบลสุเทพ , เวบไซท์ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย | ||
ภาพถ่ายโดย : | Mahapunt Photography | ||
เรียบเรียงโดย : | www.zthailand.com |
เนื้อหาและข้อความในบทความนี้ถูกเรียบเรียงขึ้นมาใหม่ ซึ่งได้มาจากข้อมูลที่ได้สำรวจจากสถานที่จริง และ/หรือ จากแหล่งข้อมูลอ้างอิงต่างๆ ด้วยเนื้อหาและข้อความถูกเรียบเรียงขึ้นมาใหม่ ข้อมูลบางส่วนจึงอาจมีการคลาดเคลื่อนหรือไม่ได้อัพเดตให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน หากท่านต้องการแจ้งข้อมูลที่ถูกต้องกว่าสามารถส่งข้อมูลพร้อมระบุสถานที่และลิงค์มาได้ที่ contact@zthailand.com เพื่อให้ทีมงานได้ตรวจสอบและแก้ไขให้ถูกต้องยิ่งขึ้น หากท่านใดต้องการนำข้อมูลไปอ้างถึงบนเวบไซท์หรือสื่ออื่น กรุณาระบุที่มาและลิงค์กลับมาที่เวบไซท์ www.zthailand.com ในขณะที่ภาพถ่ายทั้งหมดยังถือเป็น ลิขสิทธิ์ของผู้ถ่ายภาพ โดยผู้ถ่ายภาพอนุญาตให้ใช้เฉพาะภายในเวบไซท์ www.zthailand.com เท่านั้น ห้ามมิให้ละเมิด ทำซ้ำ หรือดัดแปลงใดๆทั้งสิ้น