ต้นแบบหอคำหลวงของพืชสวนโลก วิหารล้านนาโบราณที่ยังสมบูรณ์มากว่าร้อยกว่าปี

 

แหล่งท่องเที่ยวเชียงใหม่ : วัดต้นเกว๋น หรือ วัดอินทราวาส

วัดต้นเกว๋น สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2400 ในสมัยพระเจ้ากาวิโลรส สุริยวงค์ ชื่อวัดต้นเกว๋นเป็นชื่อของต้นไม้หายากชนิดหนึ่งที่ขึ้นตรงบริเวณที่สร้างวิหารในปัจจุบัน ในอดีตเคยมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงต้นเดียวเท่านั้น ต่อมาวัดต้นแกว๋นได้ถูกเปลี่ยนชื่อมาเป็น “วัดอินทราวาส” แต่คนยังนิยมเรียก

วัดต้นเกว๋นเป็นวัดเก่าแก่ที่สำคัญวัดหนึ่งซึ่งปัจจุบันอาจเรียกได้ว่ามีความสวยงามและสมบูรณ์ทางสถาปัตยกรรมล้านนามากที่สุดวัดหนึ่งของเชียงใหม่ก็ว่าได้ โดยเฉพาะวิหารวัดต้นเกว๋นที่มีความสวยงามจนเป็นต้นแบบของหอคำหลวงที่อยู่ในอุทยานหลวงราชพฤกษ์หรือที่เรียกกันต่อๆกันมาว่าพืชสวนโลก ในอดีตวัดต้นเกว๋นมีความสำคัญโดยเคยเป็นจุดพักขบวนค้างแรมแห่พระบรมสารีริกธาตุจากวัดพระธาตุจอมทองเข้ามายังเมืองเชียงใหม่ เพราะในอดีตการเดินทางค่อนข้างลำบาก ขบวนแห่พระบรมสารีริกธาตุจะต้องหยุดพักประดิษฐานที่ศาลาจตุรมุขวัดต้นเกว๋นเป็นเวลา 3 วัน 3 คืนเพื่อให้ศรัทธาประชาชนได้สักการะบูชาสรงน้ำสมโภชก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังเมืองเชียงใหม่

ภายในวัดต้นเกว๋นยังหลงเหลือสิ่งปลูกสร้างที่เคยใช้เป็นที่ประดิษฐานของพระบรมสารีริกธาตุอยู่ทั้งศาลาจตุรมุข รินรองน้ำสรงหรือแม้แต่กลองปู่จ่าความสวยงามและเก่าแก่กว่าร้อยปีของสถาปัตยกรรมในวัดต้นเกว๋นเรียกได้ว่างดงามไม่แพ้ที่ใดการอนุรักษ์ และบูรณะสถาปัตยกรรมได้รับการซ่อมแซมอยู่เสมอมาโดยเฉพาะตัววิหารของวัดต้นแกว๋นยังคงปรากฏลวดลายทางสถาปัตยกรรมที่ชัดเจนมากที่สุดแห่งหนึ่ง

 

วัดต้นเกว๋น (วัดอินทราวาส) เชียงใหม่

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อเรียกอื่นๆ : วัดอินทราวาส , วัดต้นแกว๋น
ชื่อภาษาอังกฤษ : Wat Ton Kain (Ton Kain Temple)
วันเปิดให้บริการ :
ช่วงเวลาสำหรับถ่ายภาพ :
สำหรับการถ่ายภาพด้านหน้าของอุโบสถวัดต้นเกว๋น
อำเภอ : หางดง (Hang Dong)
จังหวัด : เชียงใหม่ (Chiang Mai)
แผนที่ : พิกัด 18.722816,98.925628

 

 

วิหารวัดต้นเกว๋น ต้นแบบหอคำหลวง

วิหารวัดต้นเกว๋น สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ.2401 เป็นวิหารที่มีสถาปัตยกรรมแบบล้านนาโบราณ ได้มีการบันทึกไว้ที่ใต้เพดานด้านเหนือด้วยตัวอักษรไทยวน นายช่างผู้สร้างวิหารมีความชำนาญสามารถสลักลวดลายดอกไม้ลายรูปสัตว์ไว้ที่หน้าจั่วและช่อฟ้า พระประธานเป็นลายรูปปั้นดอกกูดฝาผนังด้านหลังพระประธานในวิหารมีรูปคล้ายซุ้มและมีพระพิมพ์โลหะซึ่งหล่อเป็นองค์ติดฝาผนังมณฑปแบบจตุรมุข หน้าบันประดับกระจกแก้วสีแบบฝาตาผ้า หรือฝาปะกน โก่งคิ้วจำหลักไม้ มีลายเครือเถาสอดสลับรูปเศียรนาค และลายปูนปั้นรูปเทพพนม และดอกไม้อยู่ที่หัวเสา

บริเวณด้านหน้าบันปีกนกเกาะ สลักเป็นเศียรนาคในลายเครือเถาผสมกนก ตีช่องตารางเพื่อระบายอากาศ คันทวยหูช้างจำหลักไม้เป็นรูปกินนรฟ้อนรำ มณฑปจตุรมุข เป็นแบบพื้นเมืองล้านนา ซึ่งพบเพียงหลังเดียวเท่านั้น ในภาคเหนือ ลักษณะเป็นศาลาที่มีมุขยื่นออกมาทั้งสี่ด้าน ส่วนกลางของศาลามีจั่วซ้อนอยู่สองชั้น มุงด้วยกระเบื้องดินขอ ช่อฟ้าของหลังคาช่างได้ออกแบบเป็นตัวนกเกาะบนช่อฟ้าได้อย่างลงตัว

 

วัดต้นเกว๋น (วัดอินทราวาส) เชียงใหม่

วัดต้นเกว๋น (วัดอินทราวาส) เชียงใหม่

 

ชมมะเกว๋นหรือต้นตะขบป่า ไม้ผลที่หายาก

ต้นมะเกว๋นเป็นที่มาของชื่อวัด เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก มีความสูงได้ถึง 15 เมตร ออกผลเป็นพวงเล็กตามกิ่งในช่วงเดือน ก.ค. – ส.ค. ผลสุกจะมีรสหวานอมฝาด มะเกว๋นมีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพรพื้นบ้าน สามารถนำส่วนต่างๆของต้นมะเกว๋นมารักษาโรคได้หลายอย่าง อาทิ แก่นใช้ต้มน้ำดื่มเพื่อแก้ปวดเมื่อย ผิดสำแดง หรืออาการคัน น้ำยางจากต้นและใบสดเป็นยาลดไข้สำหรับเด็ก เป็นต้น

 

วัดต้นเกว๋น (วัดอินทราวาส) เชียงใหม่

 

 

มณฑปจัตุรมุขแบบพื้นเมืองล้านนา

เป็นมณฑปจตุรมุขไม้สักทองแบบพื้นเมืองล้านนาซึ่งพบเพียงหลังเดียวเท่านั้นในภาคเหนือ มีลักษณะเป็นศาลาที่มีมุขยื่นออกมาทั้งสี่ด้าน ส่วนกลางของศาลามีจั่วซ้อนอยู่สองชั้นมุงด้วยกระเบื้องดินเผาที่เรียกว่ากระเบื้องดินขอ

 

วัดต้นเกว๋น (วัดอินทราวาส) เชียงใหม่

 

 

 

การเดินทางโดยทางรถยนต์ส่วนตัว / จากเชียงใหม่มาตามทางหลวงสาย 108 เมื่อถึงแยกสะเมิงให้เลี้ยวขวา จะเข้ามายังถนนรอบเมืองเชียงใหม่ ตรงมาถึงแยกต้นเกว๋น ให้ตรงต่อจะเข้าทางหลวงสายหางดง-สะเมิง เมื่อผ่านแยกมองทางซ้ายมือจะมีซอยและป้ายบอกทางเข้าวัดต้นเกว๋น

การเดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะ  / มีรถสองแถวสายเชียงใหม่-หางดงบริเวณตลาดประตูเชียงใหม่ จากนั้นลงบริเวณทางเข้าแยกสะเมิง แล้วต่อรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างเข้าไป  หรือหากนั่งรถสองแถวสายน้ำบ่อหลวงจากตลาดต้นพยอม ให้ลงบริเวณสี่แยกตลาดวิบูลย์ทอง  ถนนคลองชลประทานแล้วเดินเท้าเข้าไปประมาณ 200 เมตร

 

 

การติดต่อ

ที่อยู่ : หมู่ที่ 4 ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่
การติดต่อ : 053 248604, 053 248607

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : ป้ายภายในสถานที่ , เวบไซท์องค์การบริหารส่วนตำบลหนองควาย , Oknation , เวบไซท์สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
ภาพถ่ายโดย : Mahapunt Photography
เรียบเรียงโดย : www.zthailand.com

 

 


เนื้อหาและข้อความในบทความนี้ถูกเรียบเรียงขึ้นมาใหม่ ซึ่งได้มาจากข้อมูลที่ได้สำรวจจากสถานที่จริง และ/หรือ จากแหล่งข้อมูลอ้างอิงต่างๆ ด้วยเนื้อหาและข้อความถูกเรียบเรียงขึ้นมาใหม่ ข้อมูลบางส่วนจึงอาจมีการคลาดเคลื่อนหรือไม่ได้อัพเดตให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน หากท่านต้องการแจ้งข้อมูลที่ถูกต้องกว่าสามารถส่งข้อมูลพร้อมระบุสถานที่และลิงค์มาได้ที่ contact@zthailand.com เพื่อให้ทีมงานได้ตรวจสอบและแก้ไขให้ถูกต้องยิ่งขึ้น หากท่านใดต้องการนำข้อมูลไปอ้างถึงบนเวบไซท์หรือสื่ออื่น กรุณาระบุที่มาและลิงค์กลับมาที่เวบไซท์  www.zthailand.com  ในขณะที่ภาพถ่ายทั้งหมดยังถือเป็น ลิขสิทธิ์ของผู้ถ่ายภาพ โดยผู้ถ่ายภาพอนุญาตให้ใช้เฉพาะภายในเวบไซท์ www.zthailand.com เท่านั้น ห้ามมิให้ละเมิด ทำซ้ำ หรือดัดแปลงใดๆทั้งสิ้น