มหัศจรรย์พระพุทธรูปครึ่งองค์ Unseen ภูเก็ต แวะสักการะก่อนเข้าเมือง

แหล่งท่องเที่ยวภูเก็ต : พระผุด วัดพระทอง

วัดพระทองเป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา ประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ พระทอง หรือ พระผุด เป็นพระประธานในวิหารหลวงพ่อพระทอง โผล่พ้นเพียงพระเกตุมาลาจากพื้นดิน ปัจจุบันเป็นมีรูปจำลองกอสวมทับไว้แบบครึ่งองค์ให้สักการะบูชา จึงนับว่าแปลกประหลาดกว่าพระพุทธรูปทั้งหมดในประเทศไทย และได้กลายเป็น Unseen Thailand ของจังหวัดภูเก็ต โดยเฉพาะจากพุทธศาสนิกชนของทั้งไทยและจีนกล่าวขานกันว่าใครทุกข์โศกไปกราบไหว้ขอพร ก็จะสัมฤทธิ์ผลดลบันดาลให้ตามที่่ปรารถนา เดิมที่ตั้งของวัดพระทองนั้นมีลักษณะเป็นทุ่งนาและทุ่งหญ้ากว้าง มีน้ำไหลผ่านลำคลอง ในบริเวณซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองเก่าของเจ้าถลางสมัยนั้น ในสมัยก่อนชาวบ้านเรียกว่า “ทุ่งนาใน” ปัจจุบันคือ “บ้านนาใน” และมีตำนานมากมายเกี่ยวกับพระผุดเล่าขานถึงที่มา

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ พระองค์ท่านได้ทรงเสด็จประพาสจังหวัดภูเก็ต ได้เสด็จมาทอดพระเนตรพระทอง พระองค์ทรงมีพระราชวิจารณ์ไว้ว่า “การก่อพระพุทธรูปสวมพระผุดนี้ก่อด้วยอิฐถือปูน มีแต่เศียรกับพระองค์เพียงเท่าทรวงเพื่อให้ดูเหมือนผุดขึ้นมาจากพื้นดิน ฝีไม้ลายมือทำก็กระนั้นแหละ แต่ต้องชมว่าเขากล้า มีคนน้อยคนที่จะกล้าทำพระครึ่งองค์เช่นนี้ เพราะฉะนั้นก็จะต้องยอมรับว่าเป็นของควรดูอย่างหนึ่ง” ต่อจากนั้นทรงพระราชทานนามวัดแห่งนี้ว่า “วัดพระทอง”

ในความเป็นจริงพระผุดเป็นพระพุทธรูปผุดเพียงพระเกตุมาลาจากพื้นดิน ปัจจุบันเป็นมีรูปจำลองกอสวมทับไว้แบบครึ่งองค์ให้สักการะบูชา

 

วัดพระทอง (วัดพระผุด) ภูเก็ต

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อเรียกอื่นๆ :  วัดนาใน, วัดพระผุด, วัดพระหล่อคอ
ชื่อภาษาอังกฤษ : Wat Phra Thong Temple (Wat Phra Phud Temple)
เวลาเปิด-ปิด : 07:00 – 17:00
อำเภอ : ถลาง (Thalang)
จังหวัด : ภูเก็ต (Phuket)
แผนที่ : พิกัด 8.033959,98.337642

กราบสักการะหลวงพ่อพระทอง(พระผุด)

หลวงพ่อพระทอง(พระผุด) ชาวบ้านเรียกว่า “พระผุด” เป็นพระพุทธรูปผุดเพียงพระเกตุมาลาจากพื้นดิน มีความสูงประมาณ 1 ศอก   โดยมีรูปจำลองกอสวมทับไว้แบบครึ่งองค์  มีตำนานกล่าวว่ามีชาวบ้านได้พบสิ่งมีลักษณะเหมือนเกศ ปรากฏเป็นพระพุทธรูปและเป็นทองคำ ชาวบ้านต่างพากันมาบูชาสักการะกันมากมาย เมื่อเจ้าเมืองถลางทราบก็สั่งให้ทำการขุดพระพุทธรูปขึ้นมาประดิษฐานไว้บูชา แต่ไม่สามารถขุดขึ้นมาได้ บางคนถูกตัวต่อตัวแตนอาละวาดเป็นพิษจนถึงแก่ความตาย ต่อมาได้มีพระธุดงค์รูปหนึ่งกล่าวว่าควรจะสร้างวัดที่นี่เพื่อป้องกันดจรตัดเศียรพระ วัดพระทองแห่งนี้จึงถูกสร้างขึ้นมาในสมัยดังกล่าว ชาวบ้านจึงเรียกพระพุทธรูปองค์นี้เรียกต่อมาว่าพระผุดในเวลาต่อมา ยังมีเหตุการณ์ศึกพระเจ้าปะดุง ที่ยกพลมาตีเมืองถลาง พ.ศ. 2328 ทหารพม่าพยายามขุดพระผุดเพื่อนำกลับไปพม่า แต่ขุดลงไปคราวใดก็มีฝูงแตนไล่ต่อยจนต้องละความพยายาม ต่อมาชาวบ้านได้นำทองมาหุ้มพระพุทธรูปที่ผุดจากพื้นดินเพียงครึ่งองค์ดังที่เห็นในปัจจุบัน

คนจีนเรียกว่า “ภู่ปุ๊ค” (พู่ฮุก) โดยคนจีนเชื่อกันว่าพระผุดมาจากเมืองจีน คนจีนที่อยู่ในภูเก็ตและละแวกนี้เคารพนับถือพระผุดมาก ทุกๆปีมื่อถึงเทศกาลตรุษจีนจะพากันมานมัสการพระผุดอยุ่ทุกปี มีเรื่องเล่าต่อๆกันมา ราวสองพันปีมาแล้วมีพระพุทธรูปทองคำ 3 องค์ โดยตระกูลเจ้าเมืองของจีน จากนั้นเมื่อเสียเมืองให้แก่ชนชาวธิเบต ชาวธิเบตได้นำเอาพระพุทธรูป 1 ใน 3 องค์ ลงเรือมาทางทะเลเข้ามาทางมหาสมุทรอินเดีย เรือเกิดล่มพายุพัดเข้ามาชายฝั่งพังงา เมื่อเวลาล่วงเลยไปบริเวณเรือจมกลายเป็นแผ่นดิน จากนั้นมาเมื่อฝนตกเกิดน้ำท่วมเซาะดินให้ต่ำลง หลวงพ่อผุดก็โผล่ให้เห็นเพียงพระเกตุมาลา ส่วนองค์พระนั้นคงอยู่ใต้ดินยังขุดไม่ได้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เคย เสด็จฯ วัดพระทอง เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2502 เป็นการเสด็จส่วนพระองค์ และได้พระราชทานลายพระหัตถ์โดยย่อว่า ภ.ป.ร. ประดิษฐานเหนือประตูทางเข้าพระวิหารหลวงพ่อพระทอง เป็นสิริมงคลแก่วัดพระทองและพสกนิกรชาวไทยสืบมา

 

วัดพระทอง (วัดพระผุด) ภูเก็ต วัดพระทอง (วัดพระผุด) ภูเก็ต วัดพระทอง (วัดพระผุด) ภูเก็ต

 

 

พิพิธภัณฑสถานวัดพระทอง

พิพิธภัณฑสถานวัดพระทองที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุ ข้าวของเครื่องใช้ของชาวภูเก็ต เช่น “จังซุ่ย” เสื้อกันฝนชาวเหมืองแร่ดีบุก รองเท้าตีนตุกของสตรีเชื้อสายจีนและของเก่าอีกมากมาย

   

การเดินทางโดยทางรถยนต์ส่วนตัว /  อยุ่ห่างจากตัวเมืองภูเก็ตประมาณ 20 กิโลเมตร ไปตามถนนเทพกษัตรีผ่านสี่แยกอำเภอถลาง ถึงที่ว่าการอำเภอถลาง ระหว่างกิโลเมตรที่  19-20  ทางด้านขวาจะมีทางแยกเข้าวัดพระทองไปอีก 300 เมตร

การติดต่อ

ที่อยู่ : หมู่ที่  7  ตำบลเทพกระษัตรี  อำเภอถลาง  จังหวัดภูเก็ต

ข้อมูลอ้างอิง

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดภูเก็ต, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, นิตยสารภูเก็ตบูลเลทิน ,dhammajak.net
ภาพถ่ายโดย : Mahapunt Photography
เรียบเรียงโดย : www.zthailand.com

เนื้อหาและข้อความในบทความนี้ถูกเรียบเรียงขึ้นมาใหม่ ซึ่งได้มาจากข้อมูลที่ได้สำรวจจากสถานที่จริง และ/หรือ จากแหล่งข้อมูลอ้างอิงต่างๆ ด้วยเนื้อหาและข้อความถูกเรียบเรียงขึ้นมาใหม่ ข้อมูลบางส่วนจึงอาจมีการคลาดเคลื่อนหรือไม่ได้อัพเดตให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน หากท่านต้องการแจ้งข้อมูลที่ถูกต้องกว่าสามารถส่งข้อมูลพร้อมระบุสถานที่และลิงค์มาได้ที่ contact@zthailand.com เพื่อให้ทีมงานได้ตรวจสอบและแก้ไขให้ถูกต้องยิ่งขึ้น หากท่านใดต้องการนำข้อมูลไปอ้างถึงบนเวบไซท์หรือสื่ออื่น กรุณาระบุที่มาและลิงค์กลับมาที่เวบไซท์  www.zthailand.com  ในขณะที่ภาพถ่ายทั้งหมดยังถือเป็น ลิขสิทธิ์ของผู้ถ่ายภาพ โดยผู้ถ่ายภาพอนุญาตให้ใช้เฉพาะภายในเวบไซท์ www.zthailand.com เท่านั้น ห้ามมิให้ละเมิด ทำซ้ำ หรือดัดแปลงใดๆทั้งสิ้น