เฝ้ามองค้างคาวแม่ไก่นับแสนเกาะเต็มวัด ชมวิหารมรดกจังหวัดตั้งแต่สมัยพระเจ้าตากสิน

 

แหล่งท่องเที่ยวฉะเชิงเทรา : วัดโพธิ์บางคล้า

วัดโพธิ์บางคล้าไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างแน่ชัด สันนิษฐานว่าเป็นช่วงอยุธยาตอนปลาย ในปี พ.ศ. 2309 คราวพระเจ้าตากสินได้นำกองกำลังตีฝ่าวงล้อมพม่าจากอยุธธยา มีความเป็นไปได้ว่ามาพักที่วัดโพธิ์บางคล้าแห่งนี้ จากคำบอกเล่าเดิมที่วัดโพธิ์บางคล้านี้มีกุฏิเก่าโบสถ์ลักษณะคล้ายเก๋งจีนและมีวิหารทรงจตุรมุขศิลปะแบบอยุธยาตอนปลาย ปัจจุบันหลงเหลือแต่วิหารเก่า

จุดที่น่าสนใจของวัดโพธิ์บางคล้านี้คือค้างคาวแม่ไก่นับหมื่นนับแสนตัวที่พึ่งใบบุญอยู่ภายในวัดโพธิ์บางคล้าแห่งนี้ เมื่อเข้ามาจะพบกับเหล่าค้างคาวแม่ไก่ตัวใหญ่ห้อยหัวอยู่ตามต้นไม้ในวัด หรือบินฉวัดเฉวียนไปมา ช่วงเวลาพลบค่ำจะบินออกไปหาของกินเต็มท้องฟ้า เป็นที่น่าตื่นตะลึงของนักท่องเที่ยวที่แวะเข้ามาชมที่วัดโพธิ์บางคล้านี้แห่งนี้

 

วัดโพธิ์บางคล้า ฉะเชิงเทรา

 

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อภาษาอังกฤษ : Wat Pho Bang Khla
อำเภอ : บางคล้า (ฺBangkhla)
จังหวัด : ฉะเชิงเทรา (Chachoengsao)
แผนที่ : พิกัด 13.722079, 101.201934

 

 

ชมฝูงค้างคาวแม่ไก่ขนาดใหญ่ เกาะละลานตาเต็มวัด

ค้างคาวแม่ไก่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดเดียวที่บินได้ มีลักษณะหน้าตาคล้ายสุนัขจิ้งจอก จมูก ใบหูเล็ก ตาโต ขนสีน้ำตาลแกมแดง ปีกสีดำเป็นพังผืดบาง ๆ ซึ่งอยู่ระหว่างนิ้ว นิ้วของค้างคาวจะยาวเกือบเท่าความยาวของลำตัว มีนิ้วหัวแม่มือสั้นกว่านิ้วอื่น ๆ เล็บหัวแม่มือแหลมคม และโค้งได้อย่างเล็บเหยี่ยวมีไว้สำหรับจับหรือยึดกิ่งไม้ โตเต็มที่เวลากางปีกจะยาวประมาณ 3 ฟุต ออกลูกครั้งละ 1 ตัว เวลานอนจะห้อยหัวลง และจะนอนในเวลากลางวัน พอพลบค่ำจะออกหากินตามป่า ตามสวน อาหารที่ชอบมาก ได้แก่ ลูกและใบอ่อนของต้นไทร ต้นโพธิ์ ต้นนุ่น และผลมะม่วงแก่ ฝรั่งแก่ ฯลฯ โดยกัดเคี้ยวและกลืนเฉพาะน้ำ ส่วนกากจะคายทิ้ง จึงทำให้มีการถ่ายมูลเป็นของเหลว พอรุ่งสว่างจะบินกลับมาที่เดิม โดยอยู่เป็นกลุ่มเฉพาะบริเวณวัดโพธิ์บางคล้า ไม่ว่าแดดจะร้อนจัด หรือฝนตกก็จะไม่หลบหนีไปไหน

ค้างคาวเหล่านี้อาศัยอยู่ในวัดโพธิ์บางคล้ามาเป็นเวลานานแล้ว ไม่มีผู้บันทึกไว้ชัดเจน ตั้งแต่ในเมื่อสมัยพระครูสุตาลงกตเป็นเจ้าอาวาสระหว่างปี พ.ศ. 2573 – 2509 ซึ่งท่านเป็นพระที่มีเมตตาธรรมต่อสัตว์ทั้งหลาย ทำให้วัดโพธิ์บางคล้ามีค้างคาวนับแสนตัวมาอาศัยเกาะต้นไม้ในบริเวณวัดโดยไม่อพยพไปอยู่ที่ไหน

มีเรื่องเล่าแปลกๆเกี่ยวกับค้างคาวที่อาศัยอยู่บริเวณวัดซึ่งเล่าขานต่อกันมา เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2498 ที่มีการฝังลูกนิมิต ปรากฎว่าค้างคาวได้บินไปจากวัดนานถึง 7 วัน เมื่อเสร็จงานแล้วจึงได้บินกลับมาอาศัยอยู่ดังเดิม และเมื่อพระครูสุตาลงกต มรณภาพเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2509 ค้างคาวได้ตกลงมาตายเป็นจำนวนมากมายราวกับค้างคาวสามารถรับรู้ได้ ซึ่งนับเป็นความประหลาดยิ่ง

ค้างคาววัดโพธิ์บางคล้าออกหากินในเวลากลางคืน หากมีเวลาบริเวณท่าน้ำหลังวัดสามารถรอดูค้างคาวแม่ไก่ออกหากินเต็มฟ้าช่วงโพล้เพล้หลังพระอาทิตย์ตก

 

ช่วงเวลาสำหรับถ่ายภาพ :
 ค้างคาวแม่ไก่มีให้เห็นตลอดวัน แต่ช่วงกลางวันจะนอนนิ่งห้อยหัวภายในวัด ช่วงใกล้ๆเย็นๆจะเริ่มขยับมากขึ้น จนช่วงหัวค่ำจะออกบินเต็มทั่วท้องฟ้า

 

วัดโพธิ์บางคล้า ฉะเชิงเทรา

wat-pho-bang-khla-chachoengsao 02

wat-pho-bang-khla-chachoengsao 03

วัดโพธิ์บางคล้า ฉะเชิงเทรา

วัดโพธิ์บางคล้า ฉะเชิงเทรา

 

 

ชมวิหารเก่าแก่โบราณ สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ

วิหารวัดโพธิ์บางคล้าสร้างขึ้นในระหว่างปี พ.ศ. 2310 – 2325 สมัยพระเจ้าตากสินมหาราช  เป็นศิลปสมัยรัตนโกสินทร์กับอยุธยา รูปทรงจตุรมุข  ก่ออิฐฉาบปูน ตัววิหารมีกำแพงล้อมรอบพร้อมมุงหลังคา  และมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยทำด้วยปูน  ประดิษฐานไว้โดยรอบจำนวน 8 องค์  ส่วนภายในวิหารมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ 1 องค์ ยาว  4  เมตร  ชาวบ้านเรียกว่าหลวงพ่อโตต่อมาหลังคาวิหารวัดโพธิ์บางคล้าและกำแพงได้ชำรุดและพังลงหลายครั้ง ในปี พ.ศ. 2541  ทางอำเภอบางคล้าได้ร่วมกับประชาชนบริจาคทรัพย์เพื่อช่วยซ่อมแซมขึ้นในปี  เป็นการอนุรักษ์ของเดิมเอาไว้เพื่อเป็นมรดกของชาติ  ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย

 

วัดโพธิ์บางคล้า ฉะเชิงเทรา

วัดโพธิ์บางคล้า ฉะเชิงเทรา

 

ไหว้พระปิดทองวัดโพธิ์บางคล้า

ภายในวัดโพธิ์บางคล้ามีศาลาเปิดโล่งประดิษฐานพระพุทธรูปจำนวนมากรวมถึงพระพุทธรูปแบบนูนต่ำ และพระพุทธรูปปางบำเพ็ญทุกรกิริยา ลักษณะอิริยาบทนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองซ้อนกันบนพระเพลา ลักษณะพระวรกายผ่ายผอมเห็นหนังติดกระดูก

 

วัดโพธิ์บางคล้า ฉะเชิงเทรา

วัดโพธิ์บางคล้า ฉะเชิงเทรา

 

 

 

การเดินทางโดยทางรถยนต์ส่วนตัว / จากกรุงเทพฯ สามารถเดินทางได้ 4 เส้นทาง1. จากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงหมายเลข 304 (กรุงเทพฯ – มีนบุรี – ฉะเชิงเทรา) ระยะทาง 75 กิโลเมตร
2. จากกรุงเทพฯไปตามทางหลวงหมายเลข 34 (ถนนสายบางนา – ตราด) จากนั้นเลี้ยวเข้าทางหลวงหมายเลข 314 (บางปะกง – ฉะเชิงเทรา) ระยะทาง 90 กิโลเมตร
3. จากกรุงเทพฯไปตามทางหลวงหมายเลข 3 (ผ่านสมุทรปราการ – บางปะกง) จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 314 ระยะทาง 100 กิโลเมตร
4. เส้นทางสายมอเตอร์เวย์ ( กรุงเทพฯ – ชลบุรี ) เลี้ยวซ้าย ออก ฉะเชิงเทราซึ่ง 4 เส้นทางข้างต้นต้องผ่านเข้าตัวเมือง ทาง อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทราก่อน หลังจากนั้น วิ่งเข้าเส้นทาง ทางหลวงหมายเลข 304 มุ่งหน้าสู่ อ.พนมสารคาม เมื่อถึง กม ที่ 17 ให้เลี้ยวซ้าย เข้า อ.บางคล้า .. จากนั้นเมื่อเข้าถึงอำเภอเมืองบางคล้าและถึงบริเวณทางแยกป้อมตำรวจอำเภอบางคล้า ให้เลี้ยวซ้ายและตรงไปอีกประมาณ 200 เมตรก็จะเห็นวัดโพธิ์บางคล้า

การเดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะ  /จากสถานีขนส่งสายเหนือ (ถนนกำแพงเพชร 2) และเอกมัย มีโดยสารประจำทาง 05.00 – 21.30 น. วิ่งเส้นทางมีนบุรี และเส้นทางมอร์เตอร์เวย์ เมื่อมาถึง ฉะเชิงเทราแล้ว ต้องต่อรถ ไป อ.บางคล้า อีกต่อหนึ่ง สามารถต่อรถได้ที่ สถานีขนส่งศูนย์ใหม่ มีรถไป อ.บางคล้า ทุกวัน เมื่อถึงบริเวณท่ารถท่านสามารถเช่ารถที่มีบริการได้ เช่น รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถสามล้อ และรถตุ๊กตุ๊กทางรถไฟ มีรถไฟออกจากสถานีหัวลำโพง ไปฉะเชิงเทราทุกวัน วันละ 11 ขบวน เที่ยวแรกเวลา05.55 น. – เที่ยวสุดท้ายเวลา 18.25 น. ลงที่สถานีชุมทางฉะเชิงเทรา และต่อรถประจำทางไปบางคล้า อีกทอดหนึ่ง

 

 

การติดต่อ

ที่อยู่ : ตำบลบางคล้า อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : เวบไซท์เทศบาลตำบลบางคล้า
ภาพถ่ายโดย : Mahapunt Photography
เรียบเรียงโดย : www.zthailand.com

 

เนื้อหาและข้อความในบทความนี้ถูกเรียบเรียงขึ้นมาใหม่ ซึ่งได้มาจากข้อมูลที่ได้สำรวจจากสถานที่จริง และ/หรือ จากแหล่งข้อมูลอ้างอิงต่างๆ ด้วยเนื้อหาและข้อความถูกเรียบเรียงขึ้นมาใหม่ ข้อมูลบางส่วนจึงอาจมีการคลาดเคลื่อนหรือไม่ได้อัพเดตให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน หากท่านต้องการแจ้งข้อมูลที่ถูกต้องกว่าสามารถส่งข้อมูลพร้อมระบุสถานที่และลิงค์มาได้ที่ contact@zthailand.com เพื่อให้ทีมงานได้ตรวจสอบและแก้ไขให้ถูกต้องยิ่งขึ้น หากท่านใดต้องการนำข้อมูลไปอ้างถึงบนเวบไซท์หรือสื่ออื่น กรุณาระบุที่มาและลิงค์กลับมาที่เวบไซท์  www.zthailand.com  ในขณะที่ภาพถ่ายทั้งหมดยังถือเป็น ลิขสิทธิ์ของผู้ถ่ายภาพ โดยผู้ถ่ายภาพอนุญาตให้ใช้เฉพาะภายในเวบไซท์ www.zthailand.com เท่านั้น ห้ามมิให้ละเมิด ทำซ้ำ หรือดัดแปลงใดๆทั้งสิ้น