วัดที่รอดพ้นจากการถูกเผา กราบพระประธานทรงเครื่องแสนงดงาม และพระพุทธรูปโบราณ 4 องค์

สถานที่ท่องเที่ยวอยุธยา : วัดหน้าพระเมรุ 

วัดหน้าพระเมรุเป็นวัดเดียวในกรุงศรีอยุธยาที่ไม่ได้ถูกพม่าทำลายและยังคงปรากฏสถาปัตยกรรมแบบอยุธยาอยู่ในสภาพสมบูรณ์มากที่สุดในอยุธยา สาเหตุเพราะพม่าได้ใช้วัดหน้าพระเมรุเป็นที่ตั้งกองทัพและหันปากกระบอกปืนใหญ่ยิงตรงเข้าใส่พระราชวัง นักท่องเที่ยวมักนิยมมาไหว้นมัสการพระพุทธนิมิตพิชิตมาร ซึ่งเป็นพระประธานทรงเครื่องในอุโบสถซึ่งมีความงดงามและยิ่งใหญ่เป็นอย่างมาก รวมถึงพระพุทธรูปซึ่งมีความเก่าหลายร้อยปีหลายองค์ซึ่งอยู่ภายในวัด ได้แก่ พระคันธารราฐ อายุ 1,500 ปี พระพุทธลีลา อายุ 800 กว่าปี และหลวงพ่อเชียงแสน อายุ 700 กว่าปี
มีการสันนิษฐานว่าวัดหน้าระเมรุนี้เดิมคงเป็นสถานที่สำหรับสร้างพระเมรุถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระมหากษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งสมัยอยุธยาตอนต้นต่อมาจึงได้สร้างวัดหน้าพระเมรุขึ้น วัดหน้าพระเมรุนี้ยังมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในคราวสงครามช้างเผือก โดยเป็นสถานที่ที่พระมหาจักรพรรดิใช้ทำสัญญาสงบศึกกับพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง เมื่อ พ.ศ. 2092

วัดหน้าพระเมรุได้รับการบูรณะใหม่หลายครั้ง ตั้งแต่ในสมัยพระเจ้าบรมโกศและในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ตราบจนถึงปัจจุบัน

 

 

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อเรียกอื่นๆ : วัดหน้าพระเมรุราชิการาม
ชื่อภาษาอังกฤษ : Wat Na Phra Men
เวลาเปิด-ปิด : 08.00 – 18:00 น.
  ค่าเข้าชม :   คนไทย ไม่เสียค่าเข้า : ชาวต่างชาติ 20 บาท
อำเภอ : อำเภอพระนครศรีอยุธยา
จังหวัด : อยุธยา
แผนที่ : พิกัด 14.362252, 100.558762

 

 

พระพุทธนิมิตรวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ พระพุทธรูปทรงเครื่องที่งดงามและใหญ่ที่สุดของอยุธยา

พระประธานในโบสถ์เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง มีพระนามว่า พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ ขนาดหน้าตักกว้าง 9 ศอก สูง 3 วา หล่อด้วยโลหะปิดทองทั้งองค์  เป็นพระสัมฤทธิ์ขนาดใหญ่ตามคติการสร้างพระในสมัยอยุธยาตอนต้น แต่ลักษณะของพระพุทธรูปทรงเครื่องแบบจักรพรรดิราช สวมมงกุฎ มีสร้อยสังวาล ทับทรวง นั้นเป็นศิลปะในสมัยพระเจ้าปราสาททอง คล้ายกับพระพุทธรูปก่ออิฐในเมรุทิศเมรุรายวัดไชยวัฒนาราม จึงเข้าใจว่าพระประธานน่าจะได้รับการปฎิสังขรณ์ในสมัยพระเจ้าปราสาททองเช่นเดียวกัน

ส่วนพระอุโบสถใหญ่นี้มีความยาวประมาณ 41 เมตรครึ่ง นับว่าใหญ่กว่าวัดอื่นๆ ในอยุธยา ตั้งอยู่บนฐานสูงทำให้ตัวพระอุโบสถดูสูงใหญ่ตระการตา  หน้าบันของอุโบสถเป็นไม้แกะสลัก ลงรักปิดทองประดับกระจก รูปแกะสลักเป็นพระนารายณ์ทรงครุฑ ซึ่งเหยียบอยู่บนเศียรของพญานาค ล่างลงไปเป็นราหู ล้อมรอบด้วยหมู่เทวดาประนมมืออยู่ 26 องค์ ประตูเข้าด้านหน้าอุโบสถมีถึง 3 บาน ช่องกลางซึ่งด้านบนประดับเป็นยอดปราสาทมีขนาดใหญ่ตามคติที่ว่าเป็นประตูสำหรับบุคคลสำคัญเท่านั้น ต่อมาได้รับการดัดแปลงให้กลายเป็นซุ้มหน้าต่างแทนประตู

วัดหน้าพระเมรุ อยุธยา

 

หลวงพ่อคันธารราฐ อายุ 1,500 ปีในวิหารน้อย มีเพียงหกองค์ในโลก

วิหารพระคันคันธารราฐ วิหารน้อยหรือวิหารเขียน สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ภายในวิหารประดิษฐานพระคันธารราฐ พระพุทธรูปศิลาสมัยทวารวดี ปางปฐมเทศนา ประทับห้อยพระบาท พระยาไชยวิชิต (เผือก) จารึกว่าอัญเชิญมาจากวัดมหาธาตุในอยุธยา บ้างก็ว่ามาจากเมืองลังกา แต่มีบันทึกหลักฐานในสมัยรัชกาลที่ 5 กล่าวว่าเดิมอยู่ที่วัดพระเมรุ จ. นครปฐม

พระพุทธรูปศิลาสมัยทวารวดีเช่นพระคันธารราษฎร์ ปรากฏในโลกเพียงหกองค์เท่านั้น คือนอกจากที่วัดหน้าพระเมรุแล้ว ยังมีที่อินโดนีเซียหนึ่งองค์ วัดพระปฐมเจดีย์สามองค์ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยาหนึ่งองค์

องค์พระพุทธรูปมีลักษณะที่น่าสังเกตหลายประการ คือ
1. พระรัศมีรอบพระเศียร ซึ่งมีเปลวฉายออกมาโดยรอบนั้น ชี้ให้เห็นอิทธิพลของจีน
2. ชายจีวรถูกถลกสูง เผยให้เห็นถึงพระชานุซ้ายของพระพุทธเจ้า ดูแปลกไปจากพระพุทธรูปที่พบทั่วไปในประเทศไทย เป็นเช่นเดียวกับที่นิยมทำพระศรีอาริยเมตไตรยในประเทศจีน สมัยราชวงศ์ถัง
3. พระหัตถ์ทั้งคู่วางราบอยู่บนเข่าทั้งสอง ซึ่งแปลกไปจากปางต่าง ๆ ที่รู้จักกันในประเทศไทย

วัดหน้าพระเมรุ อยุธยา

กราบไหว้สามพระพุทธรูป อายุรวมกัน 2000 ปี

นอกจากพระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถในพระอุโบสถและพระคันคันธารราฐที่วิหารเขียนแล้ว หากเดินมาทางด้านหลังตามป้ายบอกทางจะพบกับพระพุทธรูปที่มีอายุเก่าแก่อีกสามองค์ได้แก่

พระพุทธลีลา 800 กว่าปี สมัยลพบุรี ณ พระวิหารหลวง
หลวงพ่อขาว 500 กว่าปี ด้านหลังพระอุโบสถ
หลวงพ่อเชียงแสน 700 กว่าปี เนื่องจากป้ายบอกทางไม่เด่นชัด น่าจะประดิษฐานในศาลาด้านหลังวิหารหลวง

 

วัดหน้าพระเมรุ อยุธยา

วัดหน้าพระเมรุ อยุธยา

โบราณสถานในวัดน้าพระเมรุ

หลังจากเดินมากราบไหว้หลวงพ่อขาว เมื่อเดินออกมาจะพบกับโบราณสถานที่ยังหลงเหลือที่ไม่ได้รับการบูรณะ อันได้แก่เจดีย์รายซึ่งเป็นเจดีย์ทรงระฆังสามองค์ตั้งเรียงกันเป็นแถว สังเกตให้ดีทีที่เจดีย์องค์ด้านทิศใต้จะมีเศียรพระถูกรากโพธิ์ปกคลุมคล้ายที่วัดมหาธาตุ

 

วัดหน้าพระเมรุ อยุธยา

 

 

 

การเดินทางโดยทางรถยนต์ส่วนตัว /  เมื่อมาถึงเกาะเมืองอยุธยา วิ่งรอบคูเมืองไปตามถนนอู่ทอง ตรงข้ามเยื้องๆกับวัดธรรมมิกราชให้ตัดข้ามคูเมืองไปตามถนนสระบัวก็จะเห็นวัดหน้าพระเมรุ

  การติดต่อ

ที่อยู่ : ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

 

ข้อมูลอ้างอิง

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : ป้ายข้อมูลภายในสถานที่ , การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย , สถาบันอยุธยาศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา  , wikipedia
ภาพถ่ายโดย : Mahapunt Photography
เรียบเรียงโดย : www.zthailand.com

 

 

เนื้อหาและข้อความในบทความนี้ถูกเรียบเรียงขึ้นมาใหม่ ซึ่งได้มาจากข้อมูลที่ได้สำรวจจากสถานที่จริง และ/หรือ จากแหล่งข้อมูลอ้างอิงต่างๆ ด้วยเนื้อหาและข้อความถูกเรียบเรียงขึ้นมาใหม่ ข้อมูลบางส่วนจึงอาจมีการคลาดเคลื่อนหรือไม่ได้อัพเดตให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน หากท่านต้องการแจ้งข้อมูลที่ถูกต้องกว่าสามารถส่งข้อมูลพร้อมระบุสถานที่และลิงค์มาได้ที่ contact@zthailand.com เพื่อให้ทีมงานได้ตรวจสอบและแก้ไขให้ถูกต้องยิ่งขึ้น หากท่านใดต้องการนำข้อมูลไปอ้างถึงบนเวบไซท์หรือสื่ออื่น กรุณาระบุที่มาและลิงค์กลับมาที่เวบไซท์  www.zthailand.com  ในขณะที่ภาพถ่ายทั้งหมดยังถือเป็น ลิขสิทธิ์ของผู้ถ่ายภาพ โดยผู้ถ่ายภาพอนุญาตให้ใช้เฉพาะภายในเวบไซท์ www.zthailand.com เท่านั้น ห้ามมิให้ละเมิด ทำซ้ำ หรือดัดแปลงใดๆทั้งสิ้น