วัดเก่าแก่ในบรรยากาศแห่งธรรมะ โบราณสถานแห่งการปฏิบัติธรรม

 

สถานที่ท่องเที่ยวอยุธยา : วัดมเหยงค์

วัดมเหยงค์เดิมเป็นพระอารามหลวงโดยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้่าสามพระยา) และได้รับการปฏิสังขรณ์มาหลายสมัย แต่สุดท้ายภายหลังจากที่อยุธยาเสียกรุงครั้งที่ 2 วัดมเหยงค์กลายสภาพเป็นวัดร้างตั้งแต่อยู่กลางป่ารก มองไม่เห็นซากปรักหักพังของพระอุโบสถ จากนั้นในปี พ.ศ. 2527 จึงได้เริ่มบูรณะ และมีการซื้อที่ดินของวัดให้มากขึ้น ปัจจุบันวัดมเหยงค์เป็นวัดที่มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษา

โดยพระอุโบสถของวัดมเหยงค์นั้นถือเป็นไฮไลต์เพราะเป็นโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนได้รับการอนุรักษ์ มีขนาดใหญ่โตและเก่าแก่ ควรค่าแก่การเยี่ยมชม

วัดมเหยงค์ยังเป็นสำนักปฏิบัติธรรม มีคอร์สอบรมกรรมฐาน อุปสมบทหมู่พระภิกษุสงฆ์ บวชศีล 8 ประจำวัน บวชเนกขัมมภาวนา และงานบุญต่างๆ สามารถดูรายละเอียดได้ในเวบไซท์ของวัดมเหยงค์

ในช่วงวันพระใหญ่ พุทธศาสนิกชนจำนวนมากต่างนุ่งขาวห่มขาวหลั่งไหลมาที่วัดมเหยงค์เพื่อฟังธรรม ประกอบพิธีทางศาสนา รวมถึงเวียนเทียน โดยเฉพาะการถ่ายภาพเวียนเทียนที่วัดมเหยงค์ในมุมสูงนั้นถือว่าเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ช่างภาพนิยมมาจับจองพื้นที่ในการถ่ายภาพ

 

วัดมเหยงคณ์ อยุธยา

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อเรียกอื่นๆ : วัดมเหยงคณ์ (ชื่อที่ถูกต้อง)
ชื่อภาษาอังกฤษ : Wat Mahaeyong
อำเภอ : อำเภอพระนครศรีอยุธยา
จังหวัด : อยุธยา
แผนที่ : พิกัด 14.363746, 100.594799

 

ประวัติวัดมเหยงคณ์

ตามที่พงศาวดารเหนือได้จดไว้ว่า พระเจ้าธรรมราชา (พ.ศ. 1844 – 1853) กษัตริย์องค์ที่ 8 ของอโยธยา ทรงมีมเหสีชื่อ พระนางกัลยาณี ในขณะนั้นพระองค์ทรงสร้างวัดกุฏีดาว ส่วนพระนางกัลยาณีเป็นผู้สร้างวัดมเหยงคณ์ ดังนั้น ถ้าเชื่อพงศาวดารเหนือ ก็แสดงว่าวัดมเหยงคณ์สร้างในสมัยอยุธยา ก่อนตั้งกรุงศรีอยุธยาอย่างน้อย 40 ปี

จากนั้นในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้่าสามพระยา) พระองค์ได้สร้างเพิ่มเติมจากรากฐานเดิม ในปี พ.ศ. 1981 และหลังจากนั้นล่วงมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย พ.ศ. 2252 มีกษัตริย์พระนาม พระภูมิมหาราช (พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ) ได้เป็นผู้สั่งการให้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดมเหยงคณ์ครั้งใหญ่

อันที่จริงต้องสะกดมเหยงคณ์ ดูตามแนวภาษาบาลีก็คือคำว่า มหิยังคณ์ แปลว่า ภูเขา หรือ เนินดิน ซึ่งถ้าพิจารณาภูมิประเทศของวัดมเหยงคณ์ก็เห็นว่าเข้าเค้า เพราะวัดมเหยงตณ์ โดยเฉพาะส่วนพุทธาวาสตั้งอยู่บนเนินสูง นอกจากนั้น ชื่อ มเหยงคณ์ ยังเป็นชื่อสถานที่และพระธาตุสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ ศรีลังกา เรียกว่า มหิยังคณ์เจดีย์ อีกด้วย

 

พระอุโบสถวัดมเหยงคณ์

เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีขนาดกว้างถึง 17 เมตร ตั้งอยู่บนฐานที่โค้งเป็นรูปท้องเรือสำเภา ซึ่งเป็นแบบที่นิยมในสมัยอยุธยาตอนปลาย ภายในพระอุโบสถมีแท่นฐานชุกชี 2 แท่น พระพุทธรูปประธานเป็นหินทราย หักล้มลงเป็นท่อน ๆ  พระอุโบสถนี้ได้สร้างทับซ้อนบนรากฐานอาคารเดิมในสมัยอยุธยาตอนต้น

 

วัดมเหยงคณ์ อยุธยา

วัดมเหยงคณ์ อยุธยา

วัดมเหยงค์ อยุธยา

วัดมเหยงค์ อยุธยา

 

โบราณสถานอื่นๆภายในวัดมเหยงคณ์

ได้แก่ เจดีย์ช้างล้อม เจดีย์รายทรงลังกา เจดีย์ด้านตะวันตกของวิหาร วิหารสองหลัง เจดีย์ด้านตะวันออกของพระวิหาร 2 องค์ บริเวณโคกโพธิ์  (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของ ลานธรรมจักษุ)

 

วัดมเหยงคณ์ อยุธยา

วัดมเหยงค์ อยุธยา

การเดินทางโดยทางรถยนต์ส่วนตัว /  หากมาทางถนนสายเอเชีย ให้แยกเข้าสู่ถนนโรจนะเพื่อมุ่งเข้าเกาะเมืองอยุธยา พอมาถึงเจดีย์วัดสามปลื้มเลี้ยวขวาอ้อมวงเวียนมาตามถนนระยะทางราว 1.5 กิโลเมตร ก็จะถึงทางเข้าวัดมเหยงคณ์

 

การติดต่อ

ที่อยู่ : วัดมเหยงคณ์ ตำบลหันตรา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13000
การติดต่อ : 035 881601-2
Official Website : www.mahaeyong.org , www.watmaheyong.org
Social  Media : Facebook Group , Facebook Pages , Twitter , Youtube

 

ข้อมูลอ้างอิง

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : เวบไซท์วัดมเหยงค์ , www.dhammathai.org
ภาพถ่ายโดย : Mahapunt Photography
เรียบเรียงโดย : www.zthailand.com

 

 


เนื้อหาและข้อความในบทความนี้ถูกเรียบเรียงขึ้นมาใหม่ ซึ่งได้มาจากข้อมูลที่ได้สำรวจจากสถานที่จริง และ/หรือ จากแหล่งข้อมูลอ้างอิงต่างๆ ด้วยเนื้อหาและข้อความถูกเรียบเรียงขึ้นมาใหม่ ข้อมูลบางส่วนจึงอาจมีการคลาดเคลื่อนหรือไม่ได้อัพเดตให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน หากท่านต้องการแจ้งข้อมูลที่ถูกต้องกว่าสามารถส่งข้อมูลพร้อมระบุสถานที่และลิงค์มาได้ที่ contact@zthailand.com เพื่อให้ทีมงานได้ตรวจสอบและแก้ไขให้ถูกต้องยิ่งขึ้น หากท่านใดต้องการนำข้อมูลไปอ้างถึงบนเวบไซท์หรือสื่ออื่น กรุณาระบุที่มาและลิงค์กลับมาที่เวบไซท์  www.zthailand.com  ในขณะที่ภาพถ่ายทั้งหมดยังถือเป็น ลิขสิทธิ์ของผู้ถ่ายภาพ โดยผู้ถ่ายภาพอนุญาตให้ใช้เฉพาะภายในเวบไซท์ www.zthailand.com เท่านั้น ห้ามมิให้ละเมิด ทำซ้ำ หรือดัดแปลงใดๆทั้งสิ้น