ชมโครงกระดูกที่หมู่บ้านโปรตุเกส ซากโบสถ์เก่าคณะโดมินิกัน

 

สถานที่ท่องเที่ยวอยุธยา : หมู่บ้านโปรตุเกส

หมู่บ้านโปรตุเกสตั้งอยู่นอกเกาะอยุธยาทางทิศใต้ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตามประวัติแล้วชาวโปรตุเกสเป็นชาติแรกที่เข้ามาเจิรญสัมพันธไมตรีกับอยุธยา โดยในสมัยสมเด็จพระชัยราชาได้ว่าจ้างทหารอาสาชาวโปรตุเกสที่มีความสามารถในการใช้ปืนไฟในการรบกับพม่า ต่อมาจึงได้พระราชทานที่ดินที่อยู่ด้านใต้ของเกาะเมืองและอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เป็นที่อยู่อาศัยของชาวโปรตุเกสอย่างเป็นทางการ ต่อมาในสมัยสมเด็จพระนเรศรมหาราชก็ได้มีบาทหลวงคณะฟรานซิสเข้ามาสร้างโบสถ์ขึ้นอีกแห่งทางด้านทิศเหนือของหมู่บ้านโปรตุเกส โดยรวมแล้วได้มีการสร้างโบสถ์คริสต์นิกายโรมันแคทอลิกจำนวน 3 โบสถ์ จาก 3 คณะสงฆ์

หมู่บ้านโปรตุเกสในสมัยนั้นถือได้ว่าเป็นชุมชนที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีประชากรไม่ต่ำกว่า 3000 คน ส่วนมากเป็นทหารอาสา ช่างเทคนิคต่อเรือ และพ่อค้า

 

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อภาษาอังกฤษ : Portuguese Settlement Ayutthaya
เวลาเปิด-ปิด : 08.00 – 16.00
หมายเหตุ : ปัจจุบันอยู่ในช่วงซ่อมแซมปรับปรุง คาดว่าแล้วเสร็จปลายปี 2013 (update Jun 2013)
อำเภอ : อำเภอพระนครศรีอยุธยา
จังหวัด : อยุธยา
แผนที่ : พิกัด 14.333665, 100.575026

 

โบราณสถานซานเปโตร หรือโบสถ์นักบุญเปรโต คณะโดมินิกัน

โบราณสถานซานเปโตรหรือเรียกในสมัยอยุธยาว่าโบสถ์เซนต์โดมินิค เป็นโบสถ์ในคณะโดมินิกัน นับเป็นโบสถ์แห่งแรกที่สร้างขึ้นในแผ่นดินไทยเมื่อปีพ.ศ. 2083 ตั้งอยู่ในบริเวณเกือบกึ่งกลางหมู่บ้านโปรตุเกส มีเนื้อที่ประมาณ 2,400 ตารางเมตร ยาวตามแนวทิศตะวันออกไปตะวันตกหันหน้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ตัวอาคารแบ่งออกเป็นสามส่วน คือ ส่วนหน้าเป็นสุสาน ของชาวคาทอลิคคณะโดมินิกัน ส่วนกลางใช้ประกอบพิธีทางศาสนาและฝังศพบาทหลวง ส่วนในด้านหลังเและด้านข้างเป็นที่พักอาศัยและมีการขุดค้นพบโบราณวัตถุที่สำคัญได้แก่ โครงกระดูกมนุษย์ กล้องยาสูบ เหรียญกษาปณ์ เครื่องปั้นดินเผา เครื่องประดับกำไลแก้วและเครื่องประกอบพิธีทางศาสนาเช่น ไม้กางเขน เหรียญรูปเคารพในศาสนา ลูกประคำ

 

หมู่บ้านโปรตุเกส อยุธยา

 

 

ชมโครงกระดูกชาวโปรตุเกสโบราณในสุสาน

ในส่วนของสุสาน พบโครงกระดูกฝังอยู่ไม่ต่ำกว่า 200 โครง ฝังเรียงรายอย่างเป็นระเบียบและทับซ้อนกันหนาแน่นทั้งภายในและภายนอกอาคาร จากลักษณะการฝังของศพ อาจจะพบสรุปขอบเขตการฝังและสถานภาพของผู้ตายได้โดยแบ่งขอบเขตสุสานออกเป็น 3 ส่วน

ตอนที่ 1 ส่วนในสุดกลางตัวอาคารที่เป็นฐานโบสถ์ อาจเป็นโครงกระดูกของบาทหลวงหรือนักบวช เพราะส่วนใหญ่จะหันหน้าเข้าสู่ทิศตะวันตกหรือเข้าสู่แท่นประดิษฐ์รูปเคารพภายในโบสถ์

ตอนที่ 2 ส่วนนี้อาจเป็นผู้มีฐานะทางสังคมในค่ายโปรตุเกสสูงกว่าคนธรรมดาทั่วไป

ตอนที่ 3 นอกแนวฐานโบสถ์มีการฝังซ้อนกันมากถึง 3-4 โครง โครงกระดูกเหล่านี้มีทั้งที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์และบางส่วนชำรุด พบว่ามีการทับซ้อนกันมากผิดปกติ น่าจะเกิดจากการเสียชีวิตในระยะเวลาใกล้เคียงกัน จากหลักฐานเอกสารประวัติศาสตร์ กล่าวถึงการเกิดโรคระบาดร้ายแรงในปลายแผ่นดินพระเพทราชาเมื่อปีพ.ศ. 2239 มีผู้คนล้มตายมาก และในปีพ.ศ. 2255 ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระก็เกิดโรคระบาดอีกครั้งมีผู้คนล้มตายมาก อาจเป็นเหตุให้มีการขยายสุสานออกมาจากเดิม

บริเวณสุสานนี้ได้รับความเสียหาวคราวน้ำท่วมใหญ่ในปี พ.ศ. 2554 ทำให้สุสานได้รับความเสียหาย ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการซ่อมแซม ซึ่งเมื่อซ่อมแซมเสร็จ ภาพสุสานที่มีโครงกระดูกวางเรียงต่อๆกันจะไม่มีอีกแล้ว เพราะจะย้ายขึ้นไปบนพื้นยกระดับที่สร้างขึ้นใหม่แทน (update 2013)

 

 

หมู่บ้านโปรตุเกส อยุธยา

หลังจากการซ่อมแซมเสร็จภาพที่เป็นโครงกระดูกนอนทับซ้อนเรียงรายอาจจะไม่มีให้เห็นอีกต่อไป

 

หมู่บ้านโปรตุเกส อยุธยา

แปลกตาศาลพระภูมิยอดไม้กางเขน

ตรงบริเวณทางเข้าด้านหลัง จะพบเห็นศาลพระภูมิที่เป็นไม้กางเขนมีลักษณะแปลกตาเพราะเป็นการผสมผสานคริสต์และไทยโบราณเข้าไปด้วยกัน ภายในศาลพระภูมิเป็นนักบุญตามความเชื่อทางศาสนาคริสต์

 

หมู่บ้านโปรตุเกส อยุธยา

 

การเดินทางโดยทางรถยนต์ส่วนตัว /  จากกรุงเทพฯวิ่งเข้าอยุธยาทางวงเวียนเจดีย์วัดสามปลื้ม ตรงผ่านมาทางถนนโรจนะข้ามสะพานเข้ามาเกาะเมืองอยุธยา ตรงมาจนถึงสามแยกเลี้ยวซ้ายเข้าถนนศรีสรรเพชญ์ เลี้ยวขวาเข้าถนนอู่ทอง เลาะริมน้ำไปให้สังเกตสี่แยกมีป้ายไป อ.เสนา เลี้ยวซ้ายมือขึ้นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาอีกครั้ง เมื่อลงสะพานจะเห็นซอยซ้ายมือก่อนถึงแยก ให้รีบเลี้ยวเข้าไปจะผ่านวัดไชยวัฒนาราม ตรงมาเจอสี่แยกให้เลี้ยวซ้ายมาตามเส้น 3469 ตรงมาเจอแยก 3 หัวมุมด้านซ้ายมีป้ายบอกทางไป ให้เลี้ยวซ้าย ขับตรงมามาตามทาง ผ่านวัดพุทไธสวรรค์ซ้ายมือ ตรงเข้ามาอีก 2 ก.ม. ให้สังเกตซ้ายมือ จะผ่านโรงเรียน ขับมาอีกหนึ่ง ก.ม. จะเห็นป้ายทางเข้าบ้านโปรตุเกส

 

การติดต่อ

ที่อยู่ : ตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

 

ข้อมูลอ้างอิง

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : ป้ายข้อมูลภายในสถานที่ , การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ภาพถ่ายโดย : Mahapunt Photography
เรียบเรียงโดย : www.zthailand.com

 

 


เนื้อหาและข้อความในบทความนี้ถูกเรียบเรียงขึ้นมาใหม่ ซึ่งได้มาจากข้อมูลที่ได้สำรวจจากสถานที่จริง และ/หรือ จากแหล่งข้อมูลอ้างอิงต่างๆ ด้วยเนื้อหาและข้อความถูกเรียบเรียงขึ้นมาใหม่ ข้อมูลบางส่วนจึงอาจมีการคลาดเคลื่อนหรือไม่ได้อัพเดตให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน หากท่านต้องการแจ้งข้อมูลที่ถูกต้องกว่าสามารถส่งข้อมูลพร้อมระบุสถานที่และลิงค์มาได้ที่ contact@zthailand.com เพื่อให้ทีมงานได้ตรวจสอบและแก้ไขให้ถูกต้องยิ่งขึ้น หากท่านใดต้องการนำข้อมูลไปอ้างถึงบนเวบไซท์หรือสื่ออื่น กรุณาระบุที่มาและลิงค์กลับมาที่เวบไซท์  www.zthailand.com  ในขณะที่ภาพถ่ายทั้งหมดยังถือเป็น ลิขสิทธิ์ของผู้ถ่ายภาพ โดยผู้ถ่ายภาพอนุญาตให้ใช้เฉพาะภายในเวบไซท์ www.zthailand.com เท่านั้น ห้ามมิให้ละเมิด ทำซ้ำ หรือดัดแปลงใดๆทั้งสิ้น