ผ้าซิ่นตีนจก เอกลักษณ์และความผูกพันของแม่หญิงแม่แจ่ม หัตถกรรมที่หวงแหนมาตั้งแต่บรรพบุรุษ
แหล่งท่องเที่ยวเชียงใหม่ : ศูนย์หัตถกรรมผ้าตีนจกแม่แจ่ม
ผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่ม เป็นสินค้าที่ขึ้นชื่อของอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะที่บ้านท้องฝาย ซึ่งเป็นหมู่บ้านหัตถกรรมที่ยังคงอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมไว้ โดยเฉพาะการทอผ้าซิ่นตีนจก เอกลักษณ์ของสตรีแม่แจ่มที่ผูกพันกับผ้าซิ่นมาตั้งแต่โบราณ สตรีแม่แจ่มต้องมีทอไว้เองอย่างน้อยหนึ่งผืนเป็นความภาคภูมิใจของตัวเองและครอบครัว ผ้าซิ่นตีนจกจึงถูกนำมาใช้เฉพาะพิธีกรรมสำคัญเท่านั้นไม่ต่างกับกิโมโนของญี่ปุ่น ที่ศูนย์หัตถกรรมผ้าตีนจกแม่แจ่มเป็นศูนย์จำหน่ายผ้าซิ่นตีนจกให้กับนักท่องเที่ยว มีการสืบทอดลวดลายผ้าซิ่นตีนจกที่หาชมได้ยาก ผ้าซิ่นตีนจกลายโบราณใช้เวลาทอหนึ่งเผือนใช้เวลาเป็นเดือนๆ ลายประยุกต์ใช้เวลามากกว่าครึ่วเดือน นักท่องเที่ยวสามารถเลือกซื้อหาผ้าซิ่นตีนจกเก็บไว้หรือเหมาะสำหรับไปเป็นของขวัญญาติผู้ใหญ่ ขณะที่อาคารอีกหลังนักท่องเที่ยวสามารถเดินเข้าไปชมการทอผ้าซิ่นตีนจกได้อย่างใกล้ชิด
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อภาษาอังกฤษ : | Mae Chaem’s Teen Jok Handicrafts Center | ||||||||||||||||||
วันเปิดให้บริการ : |
|
||||||||||||||||||
เวลาเปิด-ปิด : | 09:00 – 17:00 | ||||||||||||||||||
ค่าเข้าชม : | ไม่เสียค่าเข้า แต่สามารถบริจาคเพื่อส่งเสริมศูนย์ที่กล่องรับบริจาค หรืออุดหนุนสินค้าที่ทำโดยชาวบ้าน | ||||||||||||||||||
อำเภอ : | แม่แจ่ม (Mae Chaem) |
||||||||||||||||||
จังหวัด : | เชียงใหม่ (Chiang Mai) | ||||||||||||||||||
แผนที่ : | พิกัด 18.492267,98.362349 |
ประวัติผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่ม
ในสมัยโบราณผู้หญิงแม่แจ่มมีหน้าที่และทำงานร่วมกับผู้ชายเพื่อหารายได้มาสู่ครอบครัว นอกจากทำงานแล้วผู้หญฺงแม่แจ่มยังมีหน้าที่ดูแลบ้าน โดยมีงานถักทอที่ผู้หญิงแม่แจ่มภาคภูมิใจคือ งานถักทอเพื่อสวมใส่เป็นเครื่องนุ่งห่ม เป็นหน้าตาของคนในครอบครัวไม่ให้ผู้อื่นดูถูกดูแคลน ดังคำพูดที่ว่า
“ตุ๊กบ่อได้กิ๋น บ่อหมีคนต๋ามไฟส่องต๊อง ตุ๊กบ่อได้นุ่งได้หย้อง ปี้น้องดูแคลน”
หมายความว่า หากยากจนไม่มีจะกิน มักไม่มีคนเห็น แต่หากไม่มีเสื้อผ้าเครื่องแต่งตัวดีๆ ญาติพี่น้องมักดูถูกดูแคลนได้
ผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่มจึงเป็นศิลปหัตถกรรมที่มีความงดงามเป็นมรดกตกทอดมาสู่ปัจจุบัน เป็นเอกลักษณ์ของแม่แจ่ม อันเกิดจากการประดิษฐ์คิดค้น และสร้างลวดลายขึ้นบนผืนผ้าด้วยการจก คือการสอดหรือควักเส้นฝ้ายสีต่างๆ ที่พุ่งสลับกันเป็นช่วงๆ เพื่อให้เกิดเป็นรูปและลวดลายต่างๆ ขึ้นมาโดยใช้ขนเม่น โลหะ หรือไม้ปลายแหลมเป็นเครื่องมือ
ผู้หญิงแม่แจ่มจะทอผ้าเพื่อสวมใส่เอง การทอผ้าตีนจกจะบ่งบอกถึงลักษณะตัวตนของผู้หญิงชาวแม่แจ่ม ด้วยจินตนาการการสร้างลวดลายบนผืนผ้าและความอดทนในการทอ ทำให้ผ้าทอแต่ละผืนมีความแตกต่างกัน แสดงให้เห็นอารมณ์และความรู้สึกของผู้ทอ ในสมัยก่อนบ้านที่มีลูกสาวทุกคนต้องสอนให้ลูกทอผ้าเป็น
ผ้าซิ่นตีนจกแต่ละผืนใช้เวลาทอนาน ผู้ทอจึงเกิดความหวงแหนและให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ในสมัยโบราณผ้าตีนจกถูกสวมใส่ในพิธีกรรมสำคัญ อาทิ งานปอยหลวง วันศีล วันพระ เข้าพรรษา ออกพรรษา ตานก๋วยสลาก เทศกาลปีใหม่ สตรีแม่แจ่มจะมีผ้าตีนจกอย่างน้อย 1 ผืน เพื่อเก็บไว้ใส่ในพิธีหรือตอนเสียชีวิต ส่วนผู้ที่มีความขยันในการทอ จะมีผ้าตีนจกอย่างน้อย 3 ผืน ผืนแรกให้ลูกหลานนุ่งใส่ในตอนเสียชีวิตและนำไปเผาพร้อมร่าง ผืนที่สองให้ลูกหลานนำไปถวายตอนทำบุญอุทิศส่วนกุศล และผืนที่สามให้ลูกหลานเก็บไว้เพื่อเป็นมรดกตกทอดสืบต่อกันไป นอกจากนั้นผ้าตีนจกยังนำไปใช้เป็นของกำนัลผู้ที่เคารพนับถือเท่านั้น จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ ในสมัยก่อนสตรีแม่แจ่มจะใช้เป็นของฝากญาติผู้ใหญ่เพื่อแสดงความเคารพนับถือ โดยเฉพาะในวันสงกรานต์ หรือปีใหม่ที่มีประเพณีการรดน้ำดำหัว นิยมใช้เป็นของไหว้แม่สามีหรือผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ
จก เป็นเทคนิคการทำลวดลายบนผืนผ้าบนเส้นพุ่ง ด้วยวิธีการสอดด้ายเส้นพุ่งพิเศษเข้าไปเป็นช่วงๆ โดยใช้ขนแม่นหรือเหล็กแหลมช่วยในการจกหรือควักเส้นด้ายขึ้นมาบนเนื้อผ้าที่ทออยู่ การจกเป็นการสร้างลวดลายที่สามารถใช้ฝ้ายได้หลากหลายสีในลวดลายต่างๆ ที่ทำขึ้น ผ้าแม่แจ่มจะใช้เทคนิคนี้เป็นส่วนใหญ่ โดยคว่ำหน้าผ้าลงกับกี่ที่ทอ ซึ่งทำให้สามารถเก็บเงื่อนหรือปมฝ้ายได้เป็นระเบียบเรียบร้อยไม่หลุดง่าย รวมทั้งลวดลายที่เกิดขึ้นด้านหลังของลายซึ่งอยู่ด้านบนของกี่นี้มีความสวยงามไม่แพ้ด้านหน้าซิ่นแม่แจ่มจึงสามารถนุ่งได้ 2 ด้าน ดังจะเห็นคนเฒ่าคนแก่มักนิยมนุ่งซิ่นด้านในออกนอกเสมอ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เก่าเร็วเกินไปด้วย
ผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่มมีลักษณะเด่นในการสร้างผลงานของช่างผู้ทอ ขณะเดียวกันก็ไม่ละทิ้งลายดั้งเดิม ซึ่งสามารถจัดแบ่งผ้าจกตามลักษณะลวดลายได้ดังนี้
1. ลวดลายอุดมคติ เป็นลวดลายที่สะท้อนความเชื่อในศาสนาออกมาเป็นรูปสัญลักษณ์อันเกี่ยวเนื่องกับศาสนา
2. ลวดลายคนและสัตว์ ส่วนใหญ่พบในผ้าหลบสะลี (ผ้าปูที่นอน) ผ้าป้าด
3. ลวดลายพรรณพฤกษา พบในหน้าหมอนเป็นส่วนใหญ่
4. ลวดลายเปรียบเทียบสิ่งของใกล้ตัว
วิธีนุ่งนิยมนุ่งซิ่นให้ยาวกรอมเท้าปิดตาตุ่ม ลักษณะของผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่มประกอบด้วย ส่วนเอวซิ่น ส่วนตัวซิ่น ส่วนตีนซิ่น
ประวัติผ้าซิ่นบ้านท้องฝาย
บ้านท้องฝาย อยู่ในตำบลช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม ดินแดนชนบทของเชียงใหม่ที่ยังคงวิถีแห่งขนบธรรมเนียมประเพณีแบบดั้งเดิมได้จนถึงปัจจุบัน การทอผ้าซิ่นตีนจกของที่นี่คือมรดกอันทรงคุณค่าที่ยังสืบสานภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษไว้ได้ บ้านแทบทุกหลังในหมู่บ้านนี้ที่ลานใต้ถุนประดับกี่ทอผ้าที่ยังทำงานอย่างต่อเนื่อง แต่ก่อนนั้นชาวบ้านท้องฝายจะทอผ้าแต่ละผืนของตนเองอย่างอิสระ จนมาในปี พ.ศ. 252ฃ ชาวบ้านได้ร่วมแรงกันจัดตั้งกลุ่มทอผ้าซิ่นตีนจกขึ้นในหมู่บ้าน โดยยังคงไว้ซึ่งกรรมวิธีแบบดั้งเดิม แต่แทรกลวดลายให้วิจิตรงดงามยิ่งขึ้น มีการแปรรูปผ้าทอผืนงามไปเป็นผลิตภัณฑ์หลายรูปแบบ จนทำให้ผ้าซิ่นตีนจกของบ้านท้องฝายเริ่มกลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง สร้างรายได้เสริมให้กับชุมชน
ในปี พ.ศ. 2541 หมู่บ้านท้องฝายได้รับรางวัลหมู่บ้านหัตถกรรมดีเด่น ในปี พ.ศ. 2553 หมู่บ้านได้รับรางวัลพระราชทานหมู่บ้านดีเด่นประเภทอนุรักษ์ชุมชนพื้นถิ่นดีเด่นประจำปี จากสมเด็จพระเทพรัตรราชสุดาฯ ณ ศาลาดุสิตดาลัย
อุดหนุนหัตถกรรมชาวบ้านนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมบริเวณบ้านท้องฝาย จะเห็นร้านค้าจำหน่ายผ้าซิ่นตีนจกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นริมถนน ภายในหมู่บ้าน หรือ ศูนย์หัตถกรรมผ้าตีนจกแม่แจ่มแห่งนี้ ภายในมีผ้าซิ่นตีนจกให้ซื้อหา มีตั้งแต่ลายโบราณซึ่งใช้เวลาถักทอนานนับเดือน ลายประยุกต์ หรือลายทั่วไป ราคาขึ้นอยู่กับลวดลายการถักทอ นอกจากนั้นยังมีเสื้อผ้าที่ทำจากฝ้ายให้ลองเลือกซื้อหาเป็นของฝากญาติผู้ใหญ่ หรือนำมาใช้เองก็ได้ |
ชมวิธีการทำซิ่นตีนจกบริเวณอีกอาคารของศูนย์ นักท่องเที่ยวสามารถเดินเข้าไปชมวิธีการทอซิ่นตีนจกโดยชาวบ้านผุ้ชำนาญในการทอ กรรมวิธีการทอซิ่นตีนจก เริ่มตั้งแต่การเตรียมเส้นไหมในการทอผ้า โดยนำเส้นไหมที่เตรียมไว้เป็นเส้นยืนที่ฟอกย้อมสีเรียบร้อยแล้ว มากรอใส่หลอดทำการเดินเส้นยืน นำเครือเส้นยืนมาต่อเส้นไหมเข้ากับฟืม ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำหรับเรียงเส้นด้ายยืนบนกี่ทอผ้า เรียกว่า สืบเครือหูก เป็นการเตรียมเส้นยืนในการทอผ้า เตรียมเส้นไหมพุ่ง โดยกรอเส้นไหมใส่ลงในแกนหลอดด้ายในกระสวย โดยเตรียมทั้งเส้นพุ่ง และ เส้นพุ่งพิเศษ เริ่มการทอโดยการเหยียบไม้ที่ผูกติดตะกอ เส้นยืนจะถูกแยกออก และเกิดช่องว่างให้สอดกระสวยได้พุ่งผ่านได้ เมื่อพุ่งกระสวยแล้วต้องกระทบฟืมเสมอเพื่อให้ด้ายพุ่งแนบติดกัน หรือทอพิเศษ ด้วยกระสวย 2 ตัว บรรจุด้ายตัวละสี พุ่งเข้าหากันตรงกลาง และไขว้เส้นด้ายกันก่อนพุ่งกลับ เมื่อพุ่งกระสวยแล้วให้กระทบฟืมเสมอ เมื่อทอได้ผ้าความยาวช่วงหนึ่งจะเริ่มทำการจก
|
การเดินทางโดยทางรถยนต์ส่วนตัว /
|
การเดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะ /
|
การติดต่อ
ที่อยู่ : | หมู่บ้านท้องฝาย หมู่ที่ 8 ตำบลช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ | ||
การติดต่อ : | กลุ่มหัตถกรรมผ้าตีนจกบ้านท้องฝาย 084 739 8378 , 086 043 5069 |
ข้อมูลอ้างอิง
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : | ศูนย์สารสนเทศหม่อนไหมและประชาสัมพันธ์ กรมหม่อนไหม , หนังสือผ้าตีนจกแม่แจ่ม , ป้ายภายในสถานที่ | ||
ภาพถ่ายโดย : | Mahapunt Photography | ||
เรียบเรียงโดย : | www.zthailand.com |
เนื้อหาและข้อความในบทความนี้ถูกเรียบเรียงขึ้นมาใหม่ ซึ่งได้มาจากข้อมูลที่ได้สำรวจจากสถานที่จริง และ/หรือ จากแหล่งข้อมูลอ้างอิงต่างๆ ด้วยเนื้อหาและข้อความถูกเรียบเรียงขึ้นมาใหม่ ข้อมูลบางส่วนจึงอาจมีการคลาดเคลื่อนหรือไม่ได้อัพเดตให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน หากท่านต้องการแจ้งข้อมูลที่ถูกต้องกว่าสามารถส่งข้อมูลพร้อมระบุสถานที่และลิงค์มาได้ที่ contact@zthailand.com เพื่อให้ทีมงานได้ตรวจสอบและแก้ไขให้ถูกต้องยิ่งขึ้น หากท่านใดต้องการนำข้อมูลไปอ้างถึงบนเวบไซท์หรือสื่ออื่น กรุณาระบุที่มาและลิงค์กลับมาที่เวบไซท์ www.zthailand.com ในขณะที่ภาพถ่ายทั้งหมดยังถือเป็น ลิขสิทธิ์ของผู้ถ่ายภาพ โดยผู้ถ่ายภาพอนุญาตให้ใช้เฉพาะภายในเวบไซท์ www.zthailand.com เท่านั้น ห้ามมิให้ละเมิด ทำซ้ำ หรือดัดแปลงใดๆทั้งสิ้น