จุดชมพญาเสือโคร่งที่สวยงาม  แหล่งศึกษาพืชเมืองหนาวของแม่วาง

 

แหล่งท่องเที่ยวเชียงใหม่ : ขุนวาง หรือ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง)

ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า ขุนวาง มีความสูงจากระดับน้ำทะเลราว 1,400 เมตร ตั้งอยู่ใจกลางภูมิประเทศที่เป็นหุบเขาสูง อากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี  เป็นศูนย์ศึกษาวิจัยพืชสวนอุตสาหกรรม และพืชไม้เมืองหนาว ได้แก่ มะคาเดเมีย ชา กาแฟอาราบิก้า ท้อ บ๊วย สาลี่ พลับ พลัม  เกาลัดจีน แอพพริคอต พีช เนคทารีน สตรอเบอรี่ แพสชั่นฟรุท  มันฝรั่ง พืชผักเมืองหนาวต่างๆ เช่น พริกยักษ์ แครอท หอมญี่ปุ่น  และไม้ดอกต่างๆ เช่น โปรเตีย คาร์เนชั่น เยอบีร่า ขุนวางจึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่สามารถสัมผัสพร้อมอากาศหนาวๆได้อย่างถึงใจ นอกจากนั้นในช่วง ม.ค. – ก.พ. เป็นช่วงที่ต้นพญาเสือโคร่งหรือซากุระเมืองไทย ออกดอกสีมชมพูเรียงตัวกันตามทางเดิน มีความสวยงามติดอันดับแหล่งดูซากุระเมืองไทยที่ขึ้นชื่อของเชียงใหม่ ไม่น้อยหน้าขุนแม่ยะหรือขุนช่างเคี่ยนเลยทีเดียว

ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) เดิมนั้นเป็นพื้นที่ของชาวไทยภูเขาที่อาศัยอยู่โดยรอบใช้เป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเยี่ยมชาวไทยภูเขา และได้ดำเนินการใช้ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์แห่งนี้เป็นสถานีทดลอง และขยายพันธุ์พืชสำหรับเกษตรกรบนที่สูง จนในที่สุดได้กลายมาเป็นศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ที่มีการทดลอง 5 แห่ง ได้แก่ แม่เหียะ, ขุนวาง, แม่จอนหลวง, โป่งน้อย และผาแง่ม โดยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร 2 แห่ง คือขุนวาง และแม่จอนหลวง

 

ขุนวาง หรือ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) เชียงใหม่

 

 

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อภาษาอังกฤษ : Chiang Mai Royal Agricultural Research Centre (Khun Wang), Khun Wang Royal Project
วันเปิดให้บริการ :
เวลาเปิด-ปิด : 08.00 – 16.30 แต่ถ้าไม่ได้ติดต่อสามารถมาได้จนถึงก่อนค่ำ
ค่าเข้าชม : ไม่เสียค่าเข้า
ฤดูกาลท่องเที่ยว :
ช่วงที่สวยที่สุดคือช่วงฤดูหนาวที่มีดอกไม้เมืองหนาวให้ชม นอกจากนั้นระหว่างเดือน ม.ค. – ก.พ. มีโอกาศได้เห็นดอกพญาเสือโคร่งหรือซากุระเมืองไทย
หมายเหตุ : อาจมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่สภาพภูมิอากาศและฤดูกาลประจำปี
..
หมายเหตุ :  มีบ้านพักรับรองนักท่องเที่ยว มีจุดกางเต็นท์ 2 จุด และมีร้านอาหารให้บริการ
อำเภอ : แม่วาง (Mae Wang)
จังหวัด : เชียงใหม่ (Chiang Mai)
แผนที่ : พิกัด 18.62821,98.506652

 

 

ชมแปลงไม้เมืองหนาว และกิจกรรมถภายในศูนย์ฯ

จุดที่น่าสนใจต่างๆของ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) ได้แก่ ชมแปลงสาธิตไม้ผลเมืองหนาว แปลงกาแฟ โรงกะเทาะเปลือกกาแฟ และแปลงทดสอบพันธุ์มะคาเดเมีย ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในออสเตรเลีย นักท่องเที่ยวสามารถขับรถยนต์ส่วนตัวเที่ยวชมบริเวณที่ท่องเที่ยวดังกล่าว เนื่องจากแต่ละที่อยู่ห่างกัน นอกจากนั้นนักท่องเที่ยวสามารถทดลองเก็บผล และชิมเนื้อสดๆหรือแบบอบคั่วเกลือ นอกจากนั้นยังมีการทดลองสกัดน้ำมันจากผลไปทำเครื่องสำอางด้วย

ส่วนพันธุ์ไม้เมืองหนาวในแปลงต่างๆที่อยู่รอบๆศูนย์ จะพร้อมใจกันออกดอกบานสะพรั่งยามหน้าหนาว

 

ขุนวาง หรือ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) เชียงใหม่

 

ชมพญาเสือโคร่ง ซากุระเมืองไทย

บริเวณรอบๆศูนย์ในช่วงราว ม.ค. – ก.พ. จะพากันผลัดใบออกดอกเป็นสีชมพูสวยงาม เรียงรายตามถนนทางเดินรอบๆศูนย์ จุดเด่นคือทางเดินที่เป็นเส้นตรง ยามที่ดอกพญาเสือโคร่งร่วงหล่นลงพื้นนั้น พื้นที่บริเวณโดยรอบจะมีความสวยงามจับใจ

อนึ่ง การมาชมซากุระเมืองไทยหรือต้นนางพญาเสือโคร่งนี้จะต้องคำนวนวันในการมาดีๆ เพราะพญาเสือโคร่งจะบานสะพรั่งให้เห็นเต็มต้นในช่วงระยะเวลาสั้นๆเพียงราวสองอาทิตย์ในช่วงฤดูหนาวเท่านั้น และมักจะกะเกณฑ์ช่วงเวลาที่ดอกไม้บานเต็มที่ลำบาก นอกจากนั้นหากบางปีฟ้าฝนแปรปรวนก็จะทำให้ต้นนางพญาเสือโคร่งทิ้งดอกและแตกใบเร็วกว่ากำหนด

 

หมายเหตุ : อาจมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่สภาพภูมิอากาศและฤดูกาลประจำปี

 

ขุนวาง หรือ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) เชียงใหม่

ขุนวาง หรือ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) เชียงใหม่

ขุนวาง หรือ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) เชียงใหม่

 

 

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง

ไม่ไกลจากศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) ห่างกันราว 2 ก.ม. คือ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่อยู่ใสเครือขายเดียวกัน เป็นศูนย์ที่ส่งเสริมการปลูกพืชผักต่างๆ ได้แก่ ถั่วลันเตาหวาน บร็อคโคโลนี บร็อคโคลี่ ต้นหอมญี่ปุ่น ผักกาดหวาน มะเขือเทศโครงการหลวง มะเขือเทศเชอรี่แดง เฟนเนล พริกหวานสีเขียว และพริกหวานสีเหลือง และส่งเสริมการปลูกไม้ดอก ได้แก่ ส่งเสริมการปลูกไม้ดอกเบญจมาศ ดอกแคลล่าลิลี่ดอกอะกาแพนทัส ดอกคาร์เนชั่น ผลิตวานิลลา นอกจากนั้นยังมีงานส่งเสริมไม้ผล ได้แก่ งานส่งเสริมองุ่นดำไม่มีเมล็ด และกีวี่ฟรู๊ท งานส่งเสริมการปลูกชาจีน และการแปรูปชาจีน

ที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวางนี้มีบ้านพัก แคมป์ไฟ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ไว้ให้บริการสำหรับผู้ที่จะเดินทางมารับการเรียนรู้และท่องเที่ยวเชิงเกษตร วิถีชีวิตชนเผ่า และเยี่ยมชมธรรมชาติในพื้นที่

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวางมีพิกัดอยู่ที่ 18.622883, 98.520538

 

 

การเดินทางโดยทางรถยนต์ส่วนตัว / เส้นทางแรก เดินทางจากเชียงใหม่ถึงสันป่าตองแล้วเลี้ยวขวาเข้าอำเภอแม่วางตามถนนหมายเลข 1013 จะมีป้ายบอกเลี้ยวซ้ายไปศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตรจึงจะถึงขุนวาง รวมระยะทางจากเชียงใหม่ 86 กิโลเมตร ถนนค่อนข้างแคบและชัน มีโค้งหักศอก เป็นถนนลาดยางแต่ถนนเป็นหลุมเยอะค่อนข้างมาก ใช้เวลาจากเชียงใหม่ประมาณ 1.5 ชั่วโมง หน้าฝนจำเป็นต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อเส้นทางที่สอง เดินทางจากเชียงใหม่สู่จอมทอง เลี้ยวขวาก่อนถึงตัวอำเภอจอมทอง เข้าสูเส้นทางขึ้นดอยอินทนนท์ หลังจากผ่านจุดผ่านด่านไปจนถึงกิโเมตรที่ 31 ให้เลี้ยวขวา ขับไปอีก 17 กิโลเมตรจะถึงขุนวาง  เลยหมู่บ้านไปประมาณ2 กิโลเมตร ก็จะถึงสถานีศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ขุนวาง รวมระยะทางจากเชียงใหม่ 115 กิโลเมตร เส้นทางเหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวมากกว่า แต่รถจะค่อนข้างมากกว่า ใช้เวลาจากเชียงใหม่ประมาณ 2 ชั่วโมง

ใช้บริการรับจ้างพิเศษ  /  เช่ารถสองแถวสีเหลืองโดยสามารถเช่าได้ตรงอำเภอจองทอง ตรงคิวรถสองแถวขึ้นดอยอินทนนท์ตรงวัดพระธาตุศรีจอมทอง

 

 

การติดต่อ

ที่อยู่ : ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) หมู่ที่ 10 ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่
การติดต่อ : สำหรับการสอบถามข้อมูลท่องเที่ยว 081 960 2033
สำหรับการจองห้องพัก ติดต่อศูนย์ใหญ่ แม่เหียะ 053 114133 -36, 053 114070 -72
Official Website : http://it.doa.go.th/agrotour

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : เวบไซท์ กลุ่มบริหารศูนย์ท่องเที่ยวเชิงเกษตร สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร , Pantip.com , การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย , เวบไซท์มูลนิธิโครงการหลวง
ภาพถ่ายโดย : Mahapunt Photography
เรียบเรียงโดย : www.zthailand.com

 

 


เนื้อหาและข้อความในบทความนี้ถูกเรียบเรียงขึ้นมาใหม่ ซึ่งได้มาจากข้อมูลที่ได้สำรวจจากสถานที่จริง และ/หรือ จากแหล่งข้อมูลอ้างอิงต่างๆ ด้วยเนื้อหาและข้อความถูกเรียบเรียงขึ้นมาใหม่ ข้อมูลบางส่วนจึงอาจมีการคลาดเคลื่อนหรือไม่ได้อัพเดตให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน หากท่านต้องการแจ้งข้อมูลที่ถูกต้องกว่าสามารถส่งข้อมูลพร้อมระบุสถานที่และลิงค์มาได้ที่ contact@zthailand.com เพื่อให้ทีมงานได้ตรวจสอบและแก้ไขให้ถูกต้องยิ่งขึ้น หากท่านใดต้องการนำข้อมูลไปอ้างถึงบนเวบไซท์หรือสื่ออื่น กรุณาระบุที่มาและลิงค์กลับมาที่เวบไซท์  www.zthailand.com  ในขณะที่ภาพถ่ายทั้งหมดยังถือเป็น ลิขสิทธิ์ของผู้ถ่ายภาพ โดยผู้ถ่ายภาพอนุญาตให้ใช้เฉพาะภายในเวบไซท์ www.zthailand.com เท่านั้น ห้ามมิให้ละเมิด ทำซ้ำ หรือดัดแปลงใดๆทั้งสิ้น